ที่ปรึกษา รมว. เกษตรและสหกรณ์เผย ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฮับ “กัญชา-กัญชง” และเป็นโอกาสทองของไทยที่จะช่วงชิงตลาดกัญชาและกัญชงมูลค่า 8 แสนล้านบาท ที่มีอัตราการเติบโตกว่า 30 % ต่อปีและอีก 4 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดจะเพิ่มเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาท
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ร่วมบรรยายพิเศษเมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมาในหัวข้อ “ทิศทางเกษตรกรรมพืชกัญชากัญชง อาหารอนาคตพืชอนาคต (Future Food Future Crop ) กุญแจไขประตูเศรษฐกิจแห่งอนาคต” ให้กับหลักสูตรบูรณาการศักยภาพนักธุรกิจพืชเศรษฐกิจกัญชากัญชง
นายอลงกรณ์ฯ กล่าวหลังจากการบรรยายถึงเหตุที่ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นฮับกัญชงและกัญชาระดับโลกว่า ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไม่น้อยกว่า 68 ประเทศเปลี่ยนนโยบายจากพืชเสพติดเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำให้มีการส่งเสริมการปลูกกัญชาและกัญชงเพื่อการแพทย์และการค้า โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในเอเชียที่ปลดล็อคกัญชาด้วยการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในปี 2561 และมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ตามมาด้วยการปลดล็อคกัญชงและกระท่อม
นายอลงกรณ์ฯ กล่าวว่า ในปี 2563 ตลาดกัญชาโลกมีมูลค่า 6 แสนล้านบาท ตลาดกัญชง 1.6 แสนล้านบาท และปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทยมีมูลค่า 4 แสนล้านบาท หากพัฒนาโฮมสเตย์ รีสอร์ตและโรงแรมในประเทศไทยเป็นฮับสุขภาพ (Cannabis Wellness Hub) ด้วยรูปแบบผสมผสานของแพทย์แผนไทย นวดไทย สปาไทยโดยใช้กัญชาและกัญชงเป็นจุดขาย เช่นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน อุรุกวัย นิวซีแลนด์ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ จาไมกา ก็น่าจะสามารถช่วงชิงตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมายังประเทศไทยได้ไม่ยาก และเป็นการฟื้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยรวมอีกทางหนึ่งหลังจากวิกฤติโควิดคลี่คลาย
ตามรายงานของ The Global Cannabis Report ที่จัดทำโดย Prohibition Partners ได้ระบุว่า มูลค่าตลาดกัญชาโลกที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 3 ล้านล้านบาทในปี 2567 โดย ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวบนเวทีสัมมนา “ปลดล็อก ‘กัญชง-กัญชา’ ปลุกเศรษฐกิจ รวย” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 ว่า มั่นใจในเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับพืชกัญชาและกัญชง เพราะขณะนี้ต่างประเทศกำลังมองเข้ามา และเห็นประเทศไทยเป็นสถานที่สำคัญอย่างมาก เพราะไทยมีความหลากหลายของสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก เป็นฮับของกัญชง กัญชา โดยการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพืช 2 ชนิดนี้ จะเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย รวมทั้งแหล่งเงินทุนที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ
ดร. เอมอร โกพีร่า ที่ปรึกษาประธาน บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน) กล่าวในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรปกำลังจับตามองประเทศไทยอย่างใกล้ชิดว่าประเทศไทยกำลังทำอะไร เพื่อจะหาโอกาสเข้ามาลงทุน ดังนั้นโอกาสเติบโตของธุรกิจกัญชาในประเทศไทยมีสูงมาก ถ้าไทยสามารถสร้าง ecosystem ที่ถูกต้อง และโฟกัสเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัย เพราะว่าสารตัวนี้ไม่ใช่พืช ผัก อาหาร แต่เป็นสารที่ผลข้างเคียงทางด้านการเป็นยาสูง
“ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ว่าจะเป็นกัมมี่ ไอศครีม ก็นับว่าเป็นยา ไม่ใช่อาหาร เพราะฉะนั้นไทยต้องดีไซน์โปรแกรมให้ถูกต้อง ไม่เข้มข้นเกินไป ไม่รีแล็กซ์เกินไป ต้องให้บาลานซ์ ประเทศไทยสามารถใช้กัญชาสร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ แต่ต้องดีไซน์ธุรกิจให้ถูกต้อง” ดร. เอมอร อธิบาย
“อุตสาหกรรมกัญชาของไทยโชคดี เพราะเห็นบทเรียนจากทางยุโรปและอเมริกา แต่ไทยต้องเรียนรู้สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำและนำมาปรับใช้”
ดร. เอมอรฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงกัญชา ไม่ใช่แค่เรื่องการปลูก สกัดและสร้างผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องของคุณภาพชีวิต การสร้างรายได้ เพราะใน supply chain ของกัญชา ตั้งแต่ต้นนํ้าจนถึงปลายนํ้าจะก่อให้เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่เข้ามาใน ecosystem นี้ รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุนในทุกส่วนของ supply chain และนวัตกรรมในการสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อผู้บริโภค
อ้างอิงที่มาจาก
https://www.komchadluek.net/news/government-of-thailand/462939
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 28 – 31 มีนาคม พ.ศ. 2564