ร้านอาหารไทยร้านแรกใน เคนท์ วอชิงตัน กับสูตรลับฉบับคุณแม่ ที่อยู่คู่ชาวเมืองมากว่า 20 ปี

หากพูดถึงอาหารไทย “ไก่กระเทียม” นับว่าเป็นอีกหนึ่งเมนูที่หลายคนสามารถสั่งจากร้านอาหารตามสั่งใกล้บ้าน เพื่อรับประทานรองท้องก่อนออกไปทำงานหรือไปเรียนได้แทบทุกวัน ด้วยความกลมกล่อมของเนื้อไก่หมักเครื่องเทศและความหอมกรุ่นของกระเทียมเจียว ที่มาพร้อมข้าวสวยหอม ๆ ร้อน ๆ พูดได้เลยว่าเป็นอะไรที่ยากจะปฏิเสธได้ เพราะเป็นเมนูที่รับประทานได้ง่าย รสชาติไม่เผ็ด แต่อาจจะไม่ค่อยเข้าทีนักสำหรับคุณลูกค้าที่ไม่ปรารถนารสชาติของกระเทียม

แต่สำหรับร้านอาหารไทยในต่างแดนอย่าง Thai Chili Restaurant ที่ตั้งอยู่ในเคนท์ ซึ่งเป็นเมืองในคิงเคาน์ตี้ รัฐวอชิงตัน ที่นอกจาก “ผัดไทย” แล้ว “ไก่กระเทียม” คืออาหารจานเด็ดของทางร้าน รับรองโดยเหล่าบรรดาลูกค้าที่คอยแวะเวียนมาอุดหนุนเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี

ปริศนา สายสมบัติ หรือ คุณนีน่า เล่าให้ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในสหรัฐฯ ฟังว่า ร้านไทยชิลลี่สั่งวัตถุดิบจากประเทศไทย โดยนอกจากอาหารจานเด่นอย่างผัดไทยแล้ว ไก่กระเทียมก็คือเมนูยอดนิยมของทางร้านอีกหนึ่งเมนู ซึ่งหากจะให้เห็นภาพก็ให้นึกถึงไก่กระเทียมข้างหอพักที่เด็กนักเรียนนักศึกษาชอบสั่งกินกันก่อนออกไปเรียน

“เราตั้งใจทำรสชาติแบบนั้นเลย เราอยากให้ลูกค้าได้รับประทานอาหารรสชาติไทยจริง ๆ และคุณแม่ก็จะพิถีพิถันในเรื่องนี้มาก เพราะฉะนั้นสินค้าต่าง ๆ เราจะสั่งจากเมืองไทย เครื่องแกง เครื่องปรุงต่าง ๆ เรานำเข้าจากประเทศไทยทั้งหมด เพื่อให้ได้รสชาติแบบไทยแท้ ๆ”

คุณนีน่าทำงานที่เธอรักและสนุกกับงานที่ทำ เพราะในทุกวันของการทำงานเธอได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เธอได้พบเจอกับผู้คนมากมาย ในฐานะการเป็นเลขานุการให้กับเจ้านายจากบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

“งานสุดท้ายก่อนจะมาที่สหรัฐอเมริกาคือ โครงการสร้างเขื่อนปากมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี งานตอนนั้นคือเป็นงานที่ทำแล้วรู้สึกสนุกสนานมาก ได้ประสบการณ์มากมายจากการทำงาน เมื่อจบโครงการทางบริษัทจะย้ายไปทำโครงการต่อไปในต่างประเทศ ดิฉันก็บอกกับเจ้านายว่าขอไปเรียนต่อที่วอชิงตัน 1 ปี ในสาขาบริหารธุรกิจ เพื่อจะกลับมาทำงานกับบริษัท”

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว ที่เธอตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แทนที่จะกลับมาทำงานที่เธอเคยคิดว่าใช่เมื่อครั้งที่ยังอยู่ในประเทศไทย

ก้าวแรกบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา

คุณนีน่าตัดสินใจเดินทางมาที่วอชิงตันในปี 2537 และเส้นทางชีวิตของเธอในต่างแดนก็เริ่มต้นเหมือน ๆ กับนักเรียนไทยในต่างประเทศทั่วไป (โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งนั่นก็คือการหางานทำในร้านอาหาร

“ตอนแรกที่มาเรียนก็เหมือนนักเรียนทั่วไป คือไปทำงานที่ร้านอาหาร เป็นพนักงานเสิร์ฟ เพราะในสมัยนั้นใครมาเรียนแล้วไม่ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟถือว่าเชยมาก” เธอเล่าพร้อมกับหัวเราะเบา ๆ เมื่อนึกย้อนไปถึงเมื่อ 20 ปีกว่าปีที่ผ่านมา “เราไม่อยากเชยเราก็ต้อง เสิร์ฟอาหารไปด้วย เรียนไปด้วย”

หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์หลายปีในต่างประเทศ เธอก็รู้ว่ามันถึงเวลาแล้วที่เธอจะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารเอง เธอตัดสินใจชักชวนคุณพ่อคุณแม่ที่อาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทยให้ย้ายถิ่นฐานมายังสหรัฐอเมริกา และเปิดกิจการร้านอาหารของครอบครัวโดยมีคุณแม่เป็นผู้ดูแลในเรื่องของอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ภายในร้าน ด้วยประสบการณ์การทำอาหารของคุณแม่ที่ได้รับการปลูกฝังมาแต่วัยเยาว์

“คุณพ่อทำงานราชการ ตระกูลของคุณแม่ทำธุรกิจร้านขายอาหาร คือเกิดมาก็อยู่ในร้านอาหารเลย ตอนนั้นตัดสินใจแล้วว่าคงไม่กลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศไทยแล้ว จากนั้นก็ชวนคุณพ่อคุณแม่มาเปิดร้านอาหารที่นี่ เพราะที่บ้านทำธุรกิจร้านอาหารที่เมืองไทยอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าด้วยฝีมือการทำอาหารของคุณแม่ลูกค้าจะต้องชอบ ประกอบกับเราที่ได้เรียนรู้ระบบต่าง ๆ ภายในร้านอาหารมาแล้วหลายปี”

Thai Chili Restaurant

Thai Chili Restaurant ถือกำเนิดเมื่อปี 2545 จนวันนี้ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 20 แล้ว คุณนีน่าเล่าว่า ในช่วงแรกที่เปิดร้านเธอต้องทำงาน 2 ที่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถดูแลค่าใช้จ่ายของทางร้านและพนักงานได้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าร้านอาหารของเธอนั้นจะสามารถไปได้ไกลและทำได้ดีเพียงใด

“เริ่มแรกเลยคือมีน้องสองคนมาคุยขอให้เปิดร้านอาหารเพื่อเขาจะได้มีงานทำ เราเองตอนนั้นไม่คิดว่าจะเดินมาได้ไกลขนาดนี้ เพราะเดิมทีตั้งใจไว้ว่าจะลองเปิดแค่ 5 ปี เพราะตอนนั้นก็ได้ทำงานประจำเป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ในคลินิกอยู่แล้ว และในช่วง 10 ปีที่ทำงานในคลินิกเราก็รักงานนั้น ซึ่งในระหว่างที่ทำงานในคลินิก เราก็ได้มีโอกาสไปทำงานแพทย์อาสาที่เมืองไทยและกัวเตมาลาด้วย”

“ตอนแรกไม่แน่ใจจะไปรอดไหม ช่วงนั้นต้องตื่น 7 โมงเช้ามาเปิดร้าน ให้คุณแม่เป็นแม่ครัวและพนักงานดูแลร้าน จากนั้นก็ไปทำงานที่คลินิก เลิกงานกลับมาที่ร้านอาหารมาทำบัญชี 3 ทุ่มปิดร้านแล้วกลับบ้าน เพื่อจะตื่น 7 โมงเช้ามาเปิดร้าน”

และจากความมุ่งมั่นและไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยในช่วงหลายปีนั้น ก็พาให้ร้านอาหารของเธอยืนหยัดเป็นขวัญใจชาวเมืองนับ 20 ปี จากร้านอาหารที่เริ่มเปิดเป็นร้านหนึ่งพันตารางฟุต 2 ปีต่อมาร้านขยายพื้นที่เพิ่มเป็นเท่าตัว เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่หลั่งไหลเข้ามาจนขนาดของร้านเดิมไม่สามารถรองรับได้

แบ่งปันประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในต่างประเทศ 

“อย่างที่ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการเปิดร้านอาหารที่นี่จะมีกฎเกณฑ์ มีระบบระเบียบที่วางเอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค เพียงแค่เราทำตามระเบียบที่เขาวางไว้ เราก็จะไม่มีปัญหาใด ๆ ทุกอย่างมันจะง่าย”

อย่างไรก็ตามคุณนีน่าแนะนำว่า ก่อนจะเปิดร้านอาหารหรือธุรกิจใด ๆ ขอให้ศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วน และห้ามคิดที่จะใช้ทางลัดหรือโกงข้อกำหนดกฎเกณฑ์ เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ นอกจากจะทำให้เสียเวลาและอาจจะสิ้นเปลืองเงินทองมากเกินความจำเป็น

“เมื่อเราไปขอจดทะเบียน รัฐบาลจะส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขเข้ามาตรวจ ซึ่งหน้าที่เราคือต้องรู้แล้วว่า เราต้องจัดการระบบต่าง ๆ อย่างไรบ้าง และเราต้องเตรียมความพร้อมอย่างไร สำหรับการเข้ามาตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เพราะเห็นบางคนเจ้าหน้าที่มาตรวจสามรอบสี่รอบก็ยังไม่ผ่าน ซึ่งถ้าเราศึกษาและเตรียมพร้อม ทีมเจ้าหน้าที่มาตรวจรอบเดียวก็จะผ่านเลย”

“อย่าลืมว่าเขามีกฎระเบียบของเขา ไม่ต้องคิดว่าจะประหยัดเงินหรือประหยัดงบ เพราะถ้าไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ยังไงเราก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิด นอกจากนี้อีกเรื่องที่สำคัญมากก็คือ การเสียภาษีและการจ้างพนักงานที่ถูกต้อง”

“ทางร้านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ลูกค้าในร้านทำงานในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมื่อเขาถามว่าร้านเรามีแรงงานผิดกฎหมายไหม เราก็ตอบได้อย่างภาคภูมิใจว่าไม่มี และเราก็ยินยอมให้ตรวจเพราะเราจ้างถูกต้องทุกอย่าง ทั้งนี้ในส่วนของงานสาธารณสุขที่เราต้องรู้ก็คือ ในระหว่างเปิดร้านจะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจความสะอาดเช่นกัน และเขาจะมีความละเอียดมาก ๆ แม้แต่การวางผักตรงไหน วางไก่ตรงไหน เราก็ต้องรู้และทำตามที่กำหนด ซึ่งหากเราทำตามกฎเขาทุกอย่างมันจะง่ายมากและไม่มีปัญหาอันนี้สำคัญที่สุด”

ความสำเร็จ

เชื่อได้ว่าระยะเวลากว่า 20 ปี ถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งการันตีความสำเร็จของร้านได้ในระดับหนึ่ง เพราะนอกจากรายได้ที่สามารถจุนเจือครอบครัวได้เป็นอย่างดีแล้ว ทางร้านยังช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับคนไทยที่ต้องการหาประสบการณ์ในต่างแดนรุ่นแล้วรุ่นเล่า

“หากจะพูดถึงความสำเร็จก็ค่อนข้างที่จะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ อาจจะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ค่อนข้างพอใจ แต่ที่พอใจมากกว่านั้นก็คือเราได้หยิบยื่นโอกาสให้น้อง ๆ คนไทยที่มาใหม่ได้ทำงานหาประสบการณ์ ซึ่งน้อง ๆ อย่างน้อย 2 คนตอนนี้ก็ได้มีร้านอาหารเป็นของตัวเองแล้วถึง 4 ร้าน ซึ่งเราก็รู้สึกยินดีกับน้องมาก”

“นอกจากช่วยเหลือน้อง ๆ ที่มาให้มีประสบการณ์การทำงานให้มีงานทำแล้ว เรายังเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วยเพราะว่าสินค้าที่เราใช้ในร้าน เป็นเครื่องแกง เครื่องปรุงต่าง ๆ เราเอามาจากเมืองไทย พอลูกค้ารับประทานแล้ว เขาก็รู้จักอาหารไทยและรสชาติไทยแท้ โดยการควบคุมดูแลของคุณแม่ เนื่องจากท่านอายุมากแล้ว แต่ซอสทุกอย่างคือสูตรที่คุณแม่ทำเองหมด ซึ่งหากในครัวจัดอาหารไม่สวย คุณแม่จะให้เอากลับมาใหม่ เพราะท่านใส่ใจทุกจานให้เหมือนการทำกับข้าวกินกันเองที่บ้าน”

สำหรับเคล็ดลับความสำเร็จ คุณนีน่าบอกเลยว่า ไม่มีเคล็ดลับใดนอกจาก “ความจริงใจ” และ “การเข้าถึงลูกค้า”

“เราจำลูกค้าได้เกือบทุกคน เราจะทักทายลูกค้าเสมอ ลูกค้าชอบสั่งอะไรเราจำได้ และลูกค้าส่วนใหญ่ก็มาจากเพื่อน ๆ จากครอบครัวของลูกค้า ซึ่งเราเคยลงโฆษณาแล้วแต่ไม่เวิร์ค เพราะเราถามลูกค้าว่ารู้จักร้านเราได้อย่างไร เพราะร้านเราไม่ได้อยู่บนถนนใหญ่ คำตอบคือจากเพื่อนบ้านหรือจากเพื่อนที่ทำงาน”

ซึ่งหนึ่งในประสบการณ์น่ารัก ๆ ของเธอก็คือ มีเด็กคนหนึ่งเดินมาทักและบอกว่า “พ่อแม่ให้มาสวัสดี เธอจำฉันได้ไหมฉันเคยนอนในตะกร้าตอนพ่อกับแม่มากินข้าวที่ร้านนี้”

นอกจากนี้ เมื่อใดที่ในเมืองมีการจัดงานวัฒนธรรมนานาชาติต่าง ๆ ทางร้านก็จะไม่พลาดที่จะเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน ด้วยการชักชวนเพื่อนฝูงคนรู้จักให้มาร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นการแกะสลัก การสวมใส่ชุดไทย และทำการแสดงต่าง ๆ

“แทนที่จะเป็นอาหารอย่างเดียว วัฒนธรรมก็สำคัญ ส่วนตัวชอบรำไทยอยู่แล้ว ซึ่งก่อนโควิดที่ร้านจะมีโชว์รำไทยทุกวันเสาร์ด้วย แต่พออายุมากขึ้นก็ไม่ไหวแล้ว เราหันมาเป็นผู้สนับสนุนน้อง ๆ แทน”

ผลกระทบจากโควิด-19

คุณนีน่าเย็บหน้ากากแจกลูกค้า

เธอเล่าว่า ทางร้านได้รับผลกระทบเหมือนธุรกิจอื่น ๆ ทั่วโลก ยอดขายลดลงเกือบ 50 % แถมยังประสบกับปัญหาข้าวของราคาแพงขึ้น จากไก่ที่เคยสั่งลังละ 40 เหรียญราคาก็ปรับขึ้นแตะ 100 เหรียญแล้ว แต่ทางร้านก็ยังไม่มีนโยบายปรับราคาอาหารในร้าน แม้ลูกค้าจะบอกว่าปรับได้แล้ว แต่เธอก็ยืนยันว่ายังไหวและให้ความช่วยเหลือชุมชนในสิ่งที่สามารถทำได้ ซึ่งนั่นก็ทำให้ลูกค้าประจำของเธอร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนทางร้าน ด้วยความเป็นร้านเก่าแก่ที่เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนไปแล้ว

ฝากถึงคนไทยที่อยากทำธุรกิจร้านอาหาร

“เราโชคดีที่เลือกเปิดร้านในเมืองเล็กที่ไม่มีร้านอาหารไทยเลย เพราะฉะนั้นที่ตั้งของร้านสำคัญที่สุด เราจะต้องไม่ไปเปิดย่านที่มีร้านอาหารไทยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมเรียนรู้กฎเกณฑ์แล้วทุกอย่างมันจะง่าย แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือการศึกษาเรียนรู้ระบบต่าง ๆ ในร้านอาหาร เพราะเพียงแค่คุณทำอาหารอร่อยในบ้าน มันไม่ได้หมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารได้”

1,473 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top