เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve) ได้แถลงการณ์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายด้านการเงินของสหรัฐฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เผยตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ว่าขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดอันดับที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2546 รองจาก ไตรมาสที่ 3 ปี 2563
การใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการกลับมาเปิดทำการของภาคเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงความแข็งแกร่ง ในขณะที่การลงทุนของภาคธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บางอุตสาหกรรมยังคงประสบปัญหาข้อขัดข้องในระยะสั้นของอุปสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังประสบปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากสภาวะการขาดแคลน semiconductors ทั่วโลก
ตลาดแรงงาน มีสภาวะที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุปทานในตลาดแรงงานอยู่ในระดับสูง ดังเห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเดือนมิถุนายน 850,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะในภาคสันทนาการและภาคการบริการ อย่างไรก็ดีอัตราการว่างงานล่าสุด (มิถุนายน 2564) ร้อยละ 5.9 ยังคงห่างไกลจากเป้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อการได้รับเชื้อโควิด-19 ความจำเป็นในการเลี้ยงดูบุตร และการได้รับเงินสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน ทั้งนี้ คาดว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับสูงและจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานจากข้อจำกัดด้านการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถปรับตัวลดลงสู่เป้าหมายระยะยาวที่ร้อยละ 2 โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเปิดเศรษฐกิจ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงก่อให้เกิดสภาวะเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนที่ลดลง และไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่เริ่มจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่
ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มการจ้างงานสูงสุดและการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในระยะยาวไว้ที่ร้อยละ 2 และจะยังคงใช้มาตรการ นโยบายด้านการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม
หลายฝ่ายยังคงห่วงกังวลกับอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 5.4 ในรอบ 12 เดือน ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 (ก่อนเกิดวิกฤติ ศก.) แต่อย่างไรก็ดี นาย Powell ได้กล่าวระหว่างการตอบข้อซักถามต่อ Select Subcommittee on the Coronavirus Crisis เมื่อเดือนมิถุนายนว่า “We will not raise interest rates pre-emptively because we fear the possible onset of inflation. We will wait for evidence of actual inflation or other imbalances,” โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ในช่วงปลายปี 2566
นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังมีความกังวลว่า หากสภา congress สามารถผ่านร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้สำเร็จ ก็จะส่งผลให้เกิดการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก จนอาจส่งผลให้เกิดภาวะ overheating และส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อทวีความรุนแรงขึ้นอีก ในขณะที่บางส่วนเห็นต่างว่า กฎหมายดังกล่าวส่งเสริมการลงทุนในระยะยาว พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มอุปทานในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงยังคงต้องต้องจับตาดูทิศทางภาพรวมเศรษฐกิจ และท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในเรื่องการคงอัตราดอกเบี้ยและนโยบายด้านการเงินอื่น ๆ ต่อไป
.
.
ข้อมูลอ้างอิงจาก
https://www.federalreserve.gov/mediacenter/files/FOMCpresconf20210728.pdf
https://www.bea.gov/data/gdp/gross-domestic-product
https://www.reuters.com/business/us-lawmakers-likely-press-powell-feds-hawkish-turn-2021-06-22/
https://www.wsj.com/articles/federal-reserve-meeting-interest-rates-bond-purchases-june-2021-11623777582