กระแสนิยม “ความยั่งยืน” ในอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

ปัจจุบันโลกธุรกิจได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) มากขึ้น ทำให้มีการนำเป้าหมายด้านความยั่งยืน และแนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ทั้งภายในองค์กรและห่วงโซ่คุณค่า (value chain) รวมทั้งกลยุทธ์ทางธุรกิจ จนกลายเป็นแกนหลักสำคัญของวัฒนธรรมบริษัทหลายแห่งในปัจจุบัน

จากข้อมูล Forbes State of Sustainability Report ประจำปี 2567 ผู้บริหารระดับ C-suite ถึง 65% เชื่อว่า ความยั่งยืนถือเป็นภารกิจสำคัญ 1 ใน 3 อันดับแรก (โดย 25% ของผู้บริหารเหล่านี้เชื่อว่า ความยั่งยืนเป็นภารกิจสำคัญอันดับ 1) โดยเมื่อเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว (ในปี 2564) มีเพียง 28% เท่านั้นที่มองว่าความยั่งยืนมีความสำคัญเป็นลำดับต้น

ขณะเดียวกัน เมื่อมองผ่านสายตาผู้บริโภค ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (environmental sustainability) และความรับผิดชอบต่อสังคมมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นเหตุผลเกื้อหนุนซึ่งกันและกันที่ทำให้ผู้ผลิตจำนวนมากสะท้อนประเด็นดังกล่าวในฉลาก เช่น การทำเกษตรและประมงอย่างยั่งยืน กระบวนการผลิตและขนส่งที่ลด carbon footprint หรือการเลี้ยงปศุสัตว์โดยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และปราศจากการทารุณกรรม เป็นต้น

กระแสความนิยมด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมต่างๆ ของสหรัฐฯ ปี 2567

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมกลายเป็นจุดสนใจหลักสำหรับธุรกิจทั่วโลก จากข้อมูลของ Deloitte ในปี 2565 มีองค์กรถึง 75% ได้เพิ่มการลงทุนด้านความยั่งยืน และบริษัทในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การค้าปลีก อาหาร แฟชั่น และเทคโนโลยี ต่างหันมาใช้นวัตกรรมที่จะช่วยผลักดันแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกค้าและผู้ใช้บริการในที่สุด

  • ห่วงโซ่อุปทานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการค้าปลีก (Eco-Friendly Supply Chains In Retail)

ผู้บริโภคในปัจจุบันหันมาสนใจมากขึ้นว่าสินค้าที่ตนใช้มีที่มาอย่างไร และร้านอาหาร ร้านขายของชำ และผู้ผลิตอาหารต่างก็ตอบสนองด้วยการจัดหาวัตถุดิบ“อย่างเป็นธรรม” เช่น การใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง และสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ ความโปร่งใสถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งช่วยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้บริโภคสามารถติดตามแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์และประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ สามารถนำแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนเข้ามาใช้ในห่วงโซ่อุปทานได้ เช่น การผลิตที่สร้างของเสียและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง และการใช้นวัตกรรมเพื่อการขนส่งสินค้าที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซฯ ลดการเน่าเสีย และลดขยะอาหาร (food waste) เป็นต้น

  • เศรษฐกิจหมุนเวียนและแฟชั่น (Circular Economy And Fashion)

แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยเฉพาะการขยายวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงบริการซ่อมแซม โครงการรีไซเคิล และการสนับสนุนให้ลูกค้าขายต่อหรือบริจาคสิ่งของเพื่อแลกกับส่วนลด และขณะเดียวกันในส่วนของผู้บริโภคก็มีผู้ที่ชื่นชอบแฟชั่นเสื้อผ้ารีไซเคิลและเสื้อผ้าวินเทจ (สินค้ามือสอง) มากขึ้น รวมทั้งการอัพไซเคิล เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้าเก่าให้เป็นดีไซน์ใหม่เพื่อลดขยะ

นอกจากนี้ แบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ต่างก็ยอมรับหลักปฏิบัติด้านจริยธรรมอื่น ๆ มากขึ้น เช่น ค่าจ้างที่ยุติธรรม สภาพ   การทำงานที่ปลอดภัย และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งล้วนมีส่วนเกื้อหนุนกันกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

Elizabeth Joy ผู้ก่อตั้ง Conscious Life & Style บริษัทสื่อดิจิทัลที่มุ่งเน้นความยั่งยืนด้านแฟชั่น กล่าวว่า “แฟชั่นสายรักษ์โลก (ethical fashion) คือการยอมรับว่า มีมนุษย์อยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าที่เราสวมใส่” และบริษัทแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง เช่น Stella McCartney และ Eileen Fisher ต่างส่งเสริมแฟชั่นที่ยั่งยืนโดยใช้ผ้าออร์แกนิก วัสดุรีไซเคิล และวิธีการผลิตที่ปราศจากความโหดร้ายทารุณ

  • การประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Energy Efficiency In Tech)

บริการด้านดิจิทัลที่ขยายตัวทำให้ศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล และมีส่วนทำให้บริษัทเทคโนโลยีกลายเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาดและแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน เช่น Google, Amazon และ Microsoft ซึ่งต่างกำลังลงทุนใน green data centers ที่จะขับเคลื่อนด้วยพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทดแทน รวมทั้งอยู่ระหว่างสำรวจวิธีการทำความเย็นที่ใช้น้ำน้อยลง

นอกจากนี้ บริษัทด้านเทคโนโลยีหลายแห่งยังได้ลงทุนในการสร้างเมืองที่ยั่งยืน (sustainable cities) เช่น ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือ smart grids ระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ และการจัดการขยะด้วย Internet of Things (IoT) เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานและยกระดับการใช้ชีวิตในเมือง

ประโยชน์ของแนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืน

  • ประหยัดต้นทุน
  • สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์และองค์กร
  • สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
  • สร้างความพึงพอใจของพนักงาน
  • สร้าง brand loyalty ของลูกค้า
  • สร้างความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • สร้างโอกาสที่มากับนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • ส่งเสริมความยืดหยุ่นในระยะยาว
  • ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม
  • แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคม
  • ปกป้องสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ

แนวปฏิบัติทางธุรกิจที่ยั่งยืนซึ่งควรมุ่งเน้นในปี 2567

1.) พลังงานทดแทน (Renewable Energy): การใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม สามารถลดการปล่อยก๊าซฯ และการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มาก บริษัทต่าง ๆ ควรพิจารณาติดตั้งอุปกรณ์พลังงานสะอาด หรือมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ หรือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน หากทำได้

2.) กลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Strategies): การปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยลดการสร้างของเสียและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรให้สูงสุด อาจรวมถึงโครงการ reuse/recycle การนำผลิตภัณฑ์/ส่วนประกอบไปใช้ใหม่ การรับบรรจุภัณฑ์คืนเพื่อกระบวนการหมุนเวียน และการรับคืนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุการใช้งานเพื่อการ recycle หรือ upcycle

3.) การจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน (Sustainable Supply Chain Management): ผู้ประกอบการธุรกิจควรประเมินและปรับปรุงความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานของตนอย่างสม่ำเสมอ โดยสามารถร่วมมือกับ suppliers ที่มั่นใจว่ามีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กำหนดแนวทางสำหรับการจัดหาสินค้าอย่างมีจริยธรรม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่ง และส่งเสริมความโปร่งใสตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน

4.) ให้ความรู้แก่พนักงานเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด (best practices): การลงทุนในการให้ความรู้แก่พนักงานและความตระหนักรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนสามารถปลูกฝังวัฒนธรรมด้านความรับผิดชอบภายในองค์กรได้ ซึ่งอาจรวมถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการประหยัดพลังงาน กลยุทธ์การลดของเสีย และการส่งเสริมพฤติกรรมที่มีจริยธรรม เป็นต้น

5.) ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: การสนับสนุนหรือการเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรต่อความยั่งยืนอีกด้วย ธุรกิจต่าง ๆ จึงควรให้ความสำคัญกับการจัดหาวัสดุที่ยั่งยืน ใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนสำหรับกระบวนการผลิต และคำนึงถึงความสามารถในการรีไซเคิลหรือการย่อยสลายทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์

6.) สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า: แม้จะดูเหมือนเป็นทางเลือกสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินทุนเพียงพอ แต่การจัดหาสถานีชาร์จ EV ในที่ทำงานหรือบริเวณใกล้เคียง เป็นการส่งเสริมให้พนักงานและผู้มาเยี่ยมชมองค์กรมีทางเลือกในการใช้การขนส่งที่สะอาด และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร

7.) ซ่อมแซมแทนการเปลี่ยน: การเปลี่ยนวัฒนธรรมจากการทิ้งและซื้อใหม่เป็นการซ่อมแซม เป็นอีกสิ่งสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ที่ช่วยขยายวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ลด ecological footprint และลดการสร้างขยะและของเสียให้เหลือน้อยที่สุด โดยธุรกิจอาจร่วมมือกับผู้ให้บริการซ่อมแซมในพื้นที่ หรือจัดตั้งทีมซ่อมแซมภายในองค์กร

ในปัจจุบัน แม้แต่องค์กรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ green practice โดยตรงก็ยังพบว่า การนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จในระยะยาวและสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ดังนั้น ในปี 2567 ความยั่งยืนไม่ใช่สิ่งที่สร้างความแตกต่างและโดดเด่นเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป แต่กลายเป็นมาตรฐานและความจำเป็นของทุกภาคส่วนที่จะต้องตามให้ทัน และเป็นความจำเป็นเชิงกลยุทธ์ในการกำหนดแนวทางปฏิบัติและจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งจะยังเป็นกระแสต่อไปอีกนาน

อ้างอิง

https://www.forbes.com/sites/forbes-research/2024/04/22/sustainability-climbs-the-corporate-agenda-forbes-releases-the-2024-state-of-sustainability-report/

https://www.forbes.com/sites/jiawertz/2024/03/09/sustainability-has-gone-mainstream-across-industries/

https://globaltrashsolutions.com/blog/7-sustainable-business-practices-for-2024/#:~:text=Sustainable%20Business%20Practices%20to%20Implement%20in%202024&text=Here%20are%20some%20key%20areas,and%20dependence%20on%20fossil%20fuels.

1,033 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top