‘ไทยซัมมิท’คว้าออร์เดอร์ป้อนรถอีวีเทสลา
“ไทยซัมมิท” คว้าชิ้นปลามันได้ออร์เดอร์ชิ้นส่วนป้อนรถพลังงานไฟฟ้า “เทสลา” อเมริกา ทั้งระบบสายไฟในรถยนต์และบอดี้พาร์ต เตรียมส่งมอบปีหน้ามูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯวงการชิ้นส่วนฟันธงรถอีวีอย่างน้อยอีก 10 ปี ถึงจะมีการผลิตในไทยได้ ส.อ.ท.ลั่นถ้ารถอีวีมาเร็วกระทบแน่ 800 รายหายจากระบบ
แหล่งข่าวจากวงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังตื่นกับเป้าหมายตลาดรถยนต์ที่ในอนาคตจะมีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ได้ถึง100% และรถพลังงานไฟฟ้า(อีวี)สามารถตอบโจทย์นี้ได้ สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านี้ภาครัฐออกมาประกาศสนับสนุนให้มีการใช้รถ อีวีภายในประเทศเริ่มจากการทดลองใช้ในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจนำร่องก่อน ที่ขณะนี้มีวิ่งอยู่ในประเทศไทยแล้วราว 50 คัน โดยใช้สถานีชาร์ตไฟฟ้าจาก บริษัทปตท. จำกัด มหาชนและการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รวมกันราว20 สถานีทั่วประเทศในปัจจุบัน
ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่อย่างบริษัท ไทยซัมมิท ออโต พาร์ท อินดัสตรี จำกัด หรือ ไทยซัมมิทกรุ๊ป ที่มีนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ นั่งเป็นประธานกรรมการ ที่ล่าสุดใช้ฐานผลิตไทยผลิตระบบสายไฟฟ้าสำหรับประกอบในยานยนต์ส่งออกไปยังฐานการผลิตรถพลังงานไฟฟ้าเทสลา(TESLA)ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งมี 2 โมเดล ป้อนการผลิตรถยนต์จำนวน 3 แสนคันต่อปี อีกทั้งเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้เสนอราคาขายบอดี้พาร์ท หรือชิ้นส่วนเหล็ก ที่ผลิตจากโรงงานของไทยซัมมิทที่อเมริกา ในมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตส่งมอบภายในปลายปี IMG_39012560 สำหรับเป็นชิ้นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตรถเทสลาขายในช่วงต้นปี2561 โดยโรงงานผลิตบอดี้ พาร์ทแห่งนี้เป็นโรงงานที่ไทยซัมมิทกรุ๊ป เข้าไปเทคโอเวอร์กิจการของบริษัท โอกิฮาร่า คอร์เปอเรชั่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลกในรัฐมิชิแกน ของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 4 ปีก่อน ที่ได้รับความไว้วางใจจาก เทสลา มอเตอร์ส สหรัฐอเมริกาผู้ออกแบบ ผลิตและจำหน่ายรถพลังงานไฟฟ้าและส่วนประกอบระบบส่งกำลังของยานพาหนะไฟฟ้า
“ขณะนี้รถพลังงานไฟฟ้าเทสลาในอเมริกาขายดีมากดูได้จากโมเดล 3 ที่เปิดตัวเมื่อเร็วๆนี้มีกำลังผลิตออกมา 3 แสนคัน ต่อปี แต่มีคนเข้ามาจองแล้วถึง 4 แสนคัน โดยเก็บเงินมัดจำคันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ากำลังได้รับการสนองตอบจากตลาดได้ดีมาก” แหล่งข่าวกล่าว
ผลิตรถอีวีได้ต้องใช้เวลา 10 ปี
สำหรับรถอีวีในประเทศไทยยังต้องใช้เวลาราว 10 ปีไปแล้วเป็นอย่างน้อยถึงจะเป็นฐานการผลิตรถอีวีภายในประเทศได้ เนื่องจากยังมีความไม่พร้อมในหลายด้าน โดยเฉพาะไทยยังไม่มีฐานการผลิตวัตถุดิบที่ใช้กับรถอีวีในประเทศ เพราะรถอีวีจะต้องมีน้ำหนักเบาที่สุด รวมถึงตลาดภายในประเทศก็ยังไม่ขานรับ อีกทั้งความพร้อมของสถานีชาร์จไฟฟ้า ยังมีข้อจำกัดในการชาร์จไฟนาน ซึ่งจะต้องใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง แต่วิ่งได้ราว 100-200 กิโลเมตรเท่านั้น ดังนั้นด้วยข้อจำกัดเหล่านี้จะทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยังมีเวลาปรับตัว ยังมั่นใจว่าโครงการรองรับรถอีวีในระยะ10 ปีนี้ยังไม่น่ากระทบถึงกลุ่มผู้ผลิตชื้นส่วนยานยนต์แต่ถ้ารถอีวีเข้ามาเร็วหรือเกิดขึ้นในระยะ5 ปีจากนี้ไป เชื่อว่าจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์แน่นอนโดยเฉพาะการผลิตถังน้ำมันรถ เพราะระบบถูกเปลี่ยนไปเป็นแบตเตอรี่ และเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งจะมีชิ้นส่วนเพาเวอร์เทรน เหล่านี้จะหายไปเป็นส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตามสำหรับไทยซัมมิทกรุ๊ปนั้น ก่อนหน้านี้มีการจับตาว่าจะร่วมทุนกับบริษัทFOMM จากญี่ปุ่นหรือไม่ เพราะเป็นผู้ผลิตรถไฟฟ้าต้นแบบ หลังจากที่มีการเข้าพบนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานกรรมการ กลุ่ม ไทยซัมมิทกรุ๊ป เพื่อเจรจาร่วมทุนผลิตรถไฟฟ้าต้นแบบร่วมกัน เป็นรถขนาดเล็กใช้แบตเตอร์รี่จากจีน มาขายในราคา 3.5 แสนบาทต่อคัน โดยให้ฝ่ายไทยถือหุ้นสัดส่วน25% ซึ่งฝ่ายไทยมองว่าถ้าจะลงทุนต้องถือหุ้นมากกว่านี้เพื่อจะได้มีบทบาทด้วย หรือต้องถือหุ้น 27% จนสุดท้ายแผนนี้ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากแผนธุรกิจยังไม่ชัดเจน
หวั่นอุตฯชิ้นส่วนหาย 800 ราย
ด้าน นายโกวิทย์ ว่องกลกิจศิลป์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลประกาศให้มีการสนับสนุนรถพลังไฟฟ้านั้น จะต้องให้เวลาผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวด้วย เพราะรถพลังไฟฟ้าจะใช้ชิ้นส่วนน้อยลง ไม่มีเครื่องยนต์ ก็จะทำให้ซัพพายเชนหรือผู้ผลิตชิ้นส่วนทั่วประเทศหายไปจากระบบประมาณ 800 ราย ที่จะได้รับผลกระทบ จากที่ทั่วประเทศมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รวมประมาณ 2,700 ราย และจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานถึง 3 แสนคน
นอกจากนี้นโยบายรัฐที่ส่งเสริมการผลิตรถประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ 2 ที่ได้รับอนุมัติไปแล้วจำนวน 9 รายประกอบด้วยค่ายเดิมนิสสัน ฮอนด้า โตโยต้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ และผู้เล่นหน้าใหม่อย่างเชฟโรเลต ฟอร์ด มาสด้า เอ็มจี ยังไม่ได้ทำการผลิตเกือบทั้งหมดที่อาจได้รับผลกระทบได้เมื่อเปิดตลาดอีโคคาร์ 2 ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึกของผู้ลงทุน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อพลังงานทดแทนที่ก่อนหน้านี้รัฐส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือก เมื่อมีการใช้ลดลง ก็จะกระทบมาถึงเกษตรกรเนื่องจากอ้อยและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบจะมีราคาต่ำลง
ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า กำลังผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งจะเพียงพอหรือไม่และการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสิ่งที่จะตามมาคือค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟที ถ้าเสียบไฟชาร์จมากขึ้นค่าเอฟทีก็ต้องสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้ภาครัฐก็ยังไม่มีความพร้อมในการกำหนดฐานค่าเอฟทีให้ต่างกันระหว่างการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง
ชี้เป็นเทรนด์ของโลกอนาคต
ปัจจุบันค่ายรถยนต์ก็พยายามพัฒนารถยนต์เพื่อลดการปล่อยไอเสียให้เหลือ 0 % โดยนางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์(ประเทศไทย)จำกัด เปิดเผย“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในปี 2050 จะต้องมีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือแค่ 10% หรือจริงๆแล้วจะต้องให้เหลือ 0% แต่เนื่องจากต้องวัดจากหลายจุด ทำให้ประเมินว่าจะอยู่ที่ 10% ซึ่งบริษัทรถยนต์ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้รถยนต์สามารถที่จะวิ่งและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาให้น้อยที่สุด ซึ่งจากศึกษาและหาโซลูชั่นก็ปรากฏว่า กลุ่มรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน จากเดิมที่ปล่อย 100% ก็จะลดลง 30% เหลือปริมาณที่ปล่อยออกมา 70% ส่วนรถไฮบริด ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างรถเครื่องยนต์สันดาปภายในและมอเตอร์ไฟฟ้า จะลดลง 50% ขณะที่รถอีวี และรถเซลล์เชื้อเพลิงหรือเอฟซีวี จะมีปริมาณการปล่อยก๊าซ 0%
“เวลาไปประชุมในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง เอเปค จะมีการพูดถึงเทคโนโลยีรถไฟฟ้า และจะมีการชักชวนเพื่อนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในประเทศของตนเอง เป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ประเทศต่างๆหันมาสนใจรถไฟฟ้ามากขึ้น และเป็นเทรนด์ของโลก แล้วถามว่าเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอย่างไร โดยนโยบายของไทย พยายามสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ให้อยู่ในอันดับต้นๆของอาเซียน ซึ่งเมื่อดูตามลำดับแล้วไทยก็อยู่ในอันดับ 1ของตลาด ขณะที่ประเทศต่างๆ จะล้าหลังกว่าไทย และเมื่อดูนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรถปิคอัพ และอีโคคาร์ ก็ถือเป็นการก้าวสู่เทคโนโลยี แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนที่จะมีวิชั่นหรือมีวิสัยทัศน์ที่จะไปให้ทันกับสถานการณ์โลก ก็เพิ่งจะมีรัฐบาลนี้ที่มีการวางโรดแมฟและสร้างนิวเจเนอเรชั่นให้ไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลกปัจจุบัน”
มาสด้าชี้รัฐเน้นลดปล่อยมลพิษ
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับมาสด้าเป็นบริษัทฯเอกชน เวลามีนโยบายจากรัฐบาลออกมาและต้องบอกกล่าวกับบริษัทฯแม่จะมีความยากลำบาก อย่างไรก็ดีมองว่านโยบายรัฐฯที่ออกมาถือว่าดี แต่ว่าต้องมีความชัดเจน ยกตัวอย่างในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถปิคอัพ ,รถอีโคคาร์ ,รถที่รองรับอี85 จวบจนปัจจุบันที่เน้นเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง ซึ่งถือเป็นโกลบอลเทรนด์อยู่แล้ว นอกจากนั้นแล้วพฤติกรรมของผู้บริโภค มองว่ารถไม่ใช่แค่ยานพาหนะ การใช้รถขนาดเล็กไม่ได้หมายความว่ามีเงินน้อยแต่เป็นรถที่สามารถตอบสนองความต้องการของเจ้าของได้ โดยพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยนไปทางสากลมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเทรนด์ที่รัฐฯไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลกก็ถือว่าถูกทางแล้ว อย่างไรก็ตามในต่างประเทศจะมีการให้ความรู้เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับรถประเภทนี้ แต่สำหรับประเทศไทยต้องศึกษาว่าผู้บริโภคได้เล็งเห็นความสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากน้อยแค่ไหน คือมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป
สาธารณูปโภคพื้นฐานพร้อมยัง
ด้านนายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า รถไฟฟ้าถือเป็นเทรนด์ของอนาคตก็จริง แต่ก็เกิดคำถามว่าไทยเราต้องการอะไรจากรถไฟฟ้า โดยปัจจุบันไทยมีการผลิตรถยนต์เพื่อป้อนตลาดในประเทศ 40% และอีก 60 % เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นหากมีการผลิตรถไฟฟ้า แล้วรถไฟฟ้าจะอยู่ตรงไหน หรือไทยจะผลักดันให้รถไฟฟ้าเป็นโปรดักส์แชมเปี้ยนตัวที่ 3 ต่อจากปิคอัพ ,อีโคคาร์ หรือไม่ หรือในกรณีที่บอกว่ารถไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนน้อย ประกอบง่าย ก็จะเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่าแล้วถ้าเป็นแบบนั้นแล้วทำไมต้องมาประกอบที่ไทย
“นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีคำถามถึงความพร้อม อินฟาสตรัทเจอร์ สาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆมีความพร้อมหรือไม่ยังไง ทั้งถนน ทั้งระบบไฟฟ้า ระบบขนส่งต่างๆ อย่างปัจจุบัน บางคนซื้อรถไฮบริด-ปลั๊กอิน ไปชาร์จไฟที่บ้าน ปรากฎว่า ระบบไฟที่บ้าน 15 แอมป์ โหลดได้ 45 แอมป์ ก็ยังไม่เพียงพอ เสียบปลั๊กแล้ว เบรกเกอร์ตัดทันที นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงการกำจัดแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุการใช้งาน เพราะแบตเตอรี่คือสารพิษอุตสาหกรรม จะต้องมีกรรมาวิธีกำจัดอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดไว้”
จากเว็บไซต์ ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559