16 ประเทศเร่งเครื่องเจรจา RCEP ก่อนทรัมป์ปรับความตกลงรูปแบบใหม่แทน TPP
ภาพจาก : Brookings
-ประชาชาติธุรกิจ-
ลุ้นนโยบายรัฐบาลสหรัฐ เปิดฉากเจรจาความตกลงการค้ารูปแบบใหม่แทน TPP หลัง เม.ย. 60-พาณิชย์เดินหน้าศึกษาทางหนีทีไล่ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาทั้ง RCEP-TPP ยึดท่าทีการเจรจาปี”56 ขีดเส้นไม่ขัดกฎหมายไทย-WTO หวั่นกระทบ 4 อุตสาหกรรมสำคัญ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า หลังจากวันที่ 20 มกราคม 2560 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง จากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์จะประกาศรายชื่อรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ก่อนที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 4 เดือนหลังจากเมษายน 2560
แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีข้อห้ามในการผ่านร่างกฎหมายหรือระเบียบต่อรัฐสภา สหรัฐ แต่ทว่าการหยิบยกประเด็นพิจารณายังขึ้นอยู่กับการให้ “Priority” ของกรรมาธิการแต่ละชุดว่าประเด็นใดจะถูกจัดลำดับให้มาพิจารณาเป็นประเด็นแรก ๆ หรือประเด็นใดจะถูกลดระดับความสำคัญลงไป
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าจับตามองว่า นายทรัมป์จะเปลี่ยนแปลงนโยบายจากที่เคยหาเสียงหรือไม่ จากขณะนี้เปลี่ยนไป 15-16 เรื่อง และนโยบายที่ยังยืนยันตามเดิม 6 เรื่อง รวมถึงการประกาศถอนตัวจากการทำความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้น แปซิฟิก (TPP) ที่รัฐบาลโอบามาดำเนินการไว้ แต่ก็ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการจัดทำความตกลงการค้ารูปแบบใหม่ ที่ยังไม่เคยทำกับประเทศใดมาก่อน ซึ่งยังเป็นคำถามว่าความตกลงใหม่ที่ว่านี้มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะเป็นการเจรจากลุ่มแบบ TPP หรืออาจเจรจาเป็นทวิภาคี
ประเด็นนี้ ทำให้สมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ เริ่มไม่มั่นใจว่าจะผลักดันการเจรจา TPP ซึ่งเป็นความตกลงที่ครอบคลุมเศรษฐกิจขนาด 40% ของจีดีพีโลก จะบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ภายใน 2 ปี (4 ก.พ. 2561) นับจากที่ลงนามความตกลงไปเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2559 หรือไม่
อีกด้านหนึ่ง สมาชิก 16 ประเทศที่ได้มีการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ได้เร่งผลักดันการเจรจาให้ลุล่วงในปี 2560
โดยล่าสุด นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะเข้าร่วมประชุมคณะเจรจาการค้าความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ (TNC) ครั้งที่ 16 ในวันที่ 6-10 ธันวาคมนี้ ที่ประเทศอินโดนีเซีย ครอบคลุมเนื้อหา 14 ประเด็น เพื่อให้ความตกลงนี้บรรลุผลในปี 2560
ด้านนายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางกรมได้จัดส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางไปประชุมคณะ TNC ครั้งที่ 16 เพื่อเตรียมข้อมูลสำหรับการประกอบในการเจรจาด้วย
ต่อประเด็นที่ภาคประชาชนร้องเรียนว่า มีสมาชิกบางประเทศใน RCEP เสนอให้เจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบเดียวกับความตกลงหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์
ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) นั้น ยืนยันว่าเท่าที่ทราบรายละเอียดของข้อเรียกร้องใน TPP ยังมีความประนีประนอมค่อนข้างสูงกว่า เพราะเป็นการเจรจากลุ่มประเทศ แต่ทางกรมยังมีการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความตกลงทั้งสองฉบับทั้ง TPP และ RCEP ว่าจะมีประเด็นใดที่กระทบต่อประเทศไทย และต้องเตรียมแนวทางในการปรับตัวอย่างไร
“แม้ว่า TPP ตอนนี้จะชะงักอยู่ แต่กรมจะเดินหน้าศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ เน้นการปรับระบบ แก้กฎหมายเพื่อพัฒนาประเทศ TPP ก็ยังศึกษาว่าในร่างนี้กระทบเราตรงไหน ต้องไปปรับระบบตรงไหน แต่อาจจะไม่ได้ทำในเชิงเศรษฐศาสตร์ต้องอาศัยผลการศึกษาของกรมเจรจาการค้า ระหว่างประเทศ แต่กรมทรัพย์สินฯจะดูแค่อิมพลิเคชั่นว่า ข้อเรียกร้องตรงนี้จะแก้ระบบตรงนี้ เราจะต้องเตรียมระบบอะไร”
สำหรับ แนวทางการเตรียมความพร้อมในความตกลง RCEP นั้น กรมได้จัดหารือรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการจัดทำแนวทางการเจรจาข้อบทด้านทรัพย์สินทางปัญญาในความตกลง RCEP โดยยึดกรอบท่าทีที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา เมื่อปี 2556 คือ ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองภายใต้ กฎหมายไทย ความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี ให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศ และส่งเสริมการใช้ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และข้อจำกัดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาอย่างสมดุลระหว่างเจ้าของสิทธิ ผู้บริโภค และสาธารณชนโดยรวม
นอกจากนี้ กรมยังพิจารณาความเป็นไปได้ ในส่วนการเตรียมความพร้อมรองรับผลการเจรจาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยต้องปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการพิจารณาความเป็นไปทได้ในการปรับปรุงกฎหมายและกฎ ระเบียบ ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศ และเพื่อเตรียมประเทศไทยสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรม (ประเทศไทย 4.0)
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจดทะเบียนสิทธิ บัตร การพัฒนาระบบลิขสิทธิ์ให้ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัล และให้การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ อีกทั้งพิจารณาและเตรียมการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะอำนวย ความสะดวกการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาไทยในต่างประเทศ ได้แก่ พิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) เพื่อการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ และความตกลงกรุงเฮก (Hague Agreement) เพื่อการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบระหว่างประเทศ
ที่มา: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1480826998