ตลาดผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวในสหรัฐอเมริกา (1)
การบริโภคข้าวในสหรัฐฯ
ตามรายงานของ Rice Research Center ของ University of Arkansas ระบุว่า การบริโภคข้าวต่อหัว (Rice Consumption Per capita) ของคนอเมริกันสูงขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการบริโภค 12.9 กิโลกรัมต่อคนในปี 2547 และเพิ่มเป็นประมาณ 14.2 กิโลกรัมต่อคนในปี 2557 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 14.5 กิโลกรัมในปี 2562 หรือขยายตัวเพิ่มร้อยละ 2.0 นอกจากนั้นแล้ว ตามฐานข้อมูลบริษัทวิจัย Mintel พบว่า คนอเมริกันจะบริโภคข้าว 2 ครั้งต่อเดือนโดยเฉลี่ย และผู้บริโภคร้อยละ 31 บริโภคข้าวธรรมดา ผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่สูงอายุหรือมากกว่า 55 ปีขึ้นไปนิยมบริโภคข้าว ผู้หญิงจะบริโภคข้าวมากกว่าผู้ชาย และร้อยละ 71 ของผู้บริโภคเอเซีย ร้อยละ 59 ของคนอเมริกันผิวดำ และร้อยละ 47 ชาวฮิสแปนิกนิยมบริโภคข้าว
ข้าวเป็นสินค้าที่อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยเพิ่มพลังงาน บำรุงสุขภาพหัวใจเนื่องจากไม่มีคลอเรสเตอรอล ไม่เป็นจีเอ็มโอ ไม่มีกลูเตน ข้าวซ้อมมือช่วยป้องกันโรคมะเร็ง และป้องกันโรคอัลไซเมอร์ เป็นต้น จึงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ จึงเป็นผลให้สินค้าข้าวก้าวขึ้นเป็นธัญพืชที่ได้รับความนิยมบริโภคมากเป็นอันดับที่ 3 ของสหรัฐฯ นับต่อจากข้าวโพด และ ข้าวสาลี
ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวในสหรัฐฯ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวที่ผลิตและวางจำหน่ายในสหรัฐฯ จำแนกออกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ 5 กลุ่มตามประเภทและจุดประสงค์ของการใช้ โดยผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าที่มีมากที่สุดมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 64 ของทานเล่นและขบเคี้ยวตามมาเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 15 กลุ่มสินค้าเครื่องปรุงอาหารคิดเป็นร้อยละ 11 กลุ่มสุขภาพและความงามร้อยละ 3 และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวอื่น ๆ อีกร้อยละ 7
มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวในสหรัฐฯ
จากการศึกษาและรวบรวมตัวเลขยอดขายจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ประมาณว่า ตัวเลขยอดค้าปลีกผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวสำคัญ 10 รายการแรก มีมูลค่ารวมประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของประมาณการณ์ยอดขายในปี 2557 คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวของสหรัฐฯ จะเพิ่มเป็น ประมาณ 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2562
ทั้งนี้ คำนวณบนพื้นฐานของอัตราขยายตัวของตลาดข้าวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.5 ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวที่มูลค่าตลาดสูงที่สุด คือ Breakfast Cereal ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 22 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด ตามด้วยอาหารสำหรับเด็กอ่อน (Baby Rice Cereal) มูลค่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 19 อันดับที่ 3 สินค้า Cereal Bar หรือ Breakfast Bar มูลค่า 325 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 7 และ อันดับที่ 4 สินค้าประเภทเส้น ได้แก่ เส้นพาสต้า เส้นก๋วยเตี๋ยวผัดไทย เส้นหมี่ มูลค่า 310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 6.9
ปัจจัยผลักดันการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์ทำจากข้าว
- ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งมีความประสงค์ต้องการบริโภคข้าวแต่ไม่ต้องการหุงข้าวด้วยตนเอง จึงหาทางออกด้วยการบริโภคสินค้าที่ผลิตจากข้าว ดังนั้น จึงมุ่งไปยังข้าวสำเร็จรูปชนิดต่าง ๆ เช่น ข้าวหุงสุกแล้วแช่แข็ง หรือ ข้าวหุงสุกแล้วใส่บรรจุภัณฑ์ไม่มีอากาศเข้า เป็นต้น
- ผู้บริโภคที่ให้ความสนใจด้านสุขภาพเลี่ยงการบริโภคอาหารจีเอ็มโอ หรือ มีกลูเตน จะหันบริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวแทน เนื่องจากข้าวเป็นสินค้า Non-GMO และ Gluten Free
- ผู้บริโภคมีเวลาจำกัด ไม่ต้องการหุงข้าว หรือไม่มีความรู้ในการหุงข้าว จึงมุ่งไปยังข้าวสำเร็จรูป ได้แก่ ข้าวแช่แข็ง หรือ อาหารสำเร็จรูป+ข้าวแข่แข็ง ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ Microwave Rice
- ตลาดบริโภคข้าวเติบโต โรงงานผลิตสินค้าอาหารเห็นช่องทางและโอกาส จึงนำเสนอผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวชนิดต่าง ๆ เช่น น้ำข้าว (Rice Milk) Rice Syrup, Rice Chip, Rice Cake, Rice Crisp และ Rice Protein เป็นต้น ให้ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานและเพิ่มการบริโภค
- ผู้บริโภคร้อยละ 35 ของกลุ่มผู้บริโภคอายุระหว่าง 18-45 ปี มีแนวโน้มบริโภคผลิตภัณฑ์ทำจากข้าว โดยเฉพาะกลุ่มของทานเล่น และ อาหารเพื่อสุขภาพ
- การค้าทางออนไลน์สนับสนุนการขยายตลาดเป็นผลให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าทำจากข้าวได้หลากหลายชนิดและรวดเร็ว
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก
Department of International Trade Promotion, North America , พ, มี.ค. 30, 2559
by สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครชิคาโก