นวัตกรรมอาหาร 4.0 มาแน่ในปี 60
Credit Photo: http://marketeer.co.th/archives/104212
การส่งออกอาหารไทยไปตลาดโลกของไทยได้ไต่อันดับสู่อันดับที่ 13 ของโลก ถือเป็นสัญญาณที่ดีของอุตสาหกรรมอาหารไทยที่จะเติบโตอย่างงดงามท่ามกลางการแข่งขันจากผู้ผลิตอาหารนานานับประเทศ
และการที่โลกขับเคลื่อนเข้าสู่ยุค 4.0 ได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง จากผู้ผลิตอาหารเป็นผู้ประกอบการและส่งตรงถึงลูกค้าได้โดยตรง และเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการอาหารทุกขนาดทั้งแต่ SME Startup และผู้ประกอบการรายใหญ่ลงแข่งขันในสนามเดียวกันได้อย่างเต็มขีดความสามารถ
แต่การแข่งขันในยุค 4.0 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) แนะนำไทยต้องตื่นตัวในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเข้าสู่ผลิตภัณฑ์ เนื่องจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับตัวผลิตภัณฑ์และธุรกิจ อันจะนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องของประเทศไทย ที่มีการส่งออกวัตถุดิบอาหารจำนวนมาก แต่มีมูลค่าน้อย ทำให้ไม่สามารถแข่งขันในเรื่องตัวเลขภาพรวมรายได้การส่งออกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ผ่านหัวใจหลักที่สำคัญ 3 ประการ คือ
เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Productivity)
นวัตกรรมสามารถใช้เพื่อพัฒนาภาคการผลิต โดยเฉพาะในธุรกิจต้นน้ำ เช่น ผลิตผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ ให้มีปริมาณมากขึ้น รองรับกับการเติบโตของจำนวนผู้บริโภคทั่วโลก ตลอดจนลดอัตราการสูญเสียจากปัจจัยต่างๆ เช่น ปัญหาทางสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)
พัฒนาด้านความปลอดภัย (Safety)
ประเด็นด้านความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในธุรกิจอาหาร ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยพัฒนาและควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตอาหาร
ผลิตอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ (Healthy & Wellness)
อาหารเพื่อสุขภาพ (Healthy & Functional Food) เป็นเทรนด์ระดับโลกที่ผู้บริโภคทุกประเทศให้ความสนใจเป็นอันดับ 1 โดยในปัจจุบันหัวใจหลักที่ใช้เป็นตัวตัดสินในตลาดธุรกิจอาหาร คือ การคิดค้นและพัฒนาอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย (Aging Society)
ที่มา : Marketeer.co.th อ่านข่าวฉบับเต็มได้ที่นี่