สัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียนแข็งแกร่งอย่างคาดไม่ถึง

สัมพันธ์สหรัฐ-อาเซียนแข็งแกร่งอย่างคาดไม่ถึง

สหรัฐฯ และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) กำลังยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นไปสู่อีกระดับ โดยในเดือน พ.ย. 2015 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนได้ก้าวขึ้นเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการ ขณะที่การประชุมสุดยอดผู้นำที่ซันนีแลนด์ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ – อาเซียนบนแผ่นดินสหรัฐฯ เพื่อต้อนรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ยังถือเป็นหลักชัยสำคัญครั้งใหม่ใน ความร่วมมือระหว่างกัน โดยการกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนถือเป็นเสาหลักสำคัญในนโยบายการปรับสมดุลของสหรัฐฯ ในเอเชียอาเซียนซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งนั้นนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการรับมือกับความท้าทายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งจากแถลงการณ์ร่วมที่ประชุมสุดยอดซันนีแลนด์ส สหรัฐฯ และอาเซียนเห็นพ้องร่วมกันอย่างชัดเจนในการเสริมสร้างและสนับสนุนระเบียบในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่อยู่บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์เพื่อให้แต่ละชาติสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างสันติ สอดคล้องกับกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ

สหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญของอาเซียนทั้งในด้านการทูต เศรษฐกิจ และการเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จึงได้ลงทุนลงแรงอย่างมากในความสัมพันธ์กับอาเซียน โดยในปี 2010 สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศแรกนอกกลุ่มอาเซียนที่ตั้งคณะทูตถาวรประจำอาเซียนและแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำที่สำนักเลขาธิการอาเซียนในกรุงจาการ์ตา

ในปี 2009 สหรัฐฯ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นความตกลงทางการทูตที่เป็นรากฐานของอาเซียน จนเปิดประตูไปสู่การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) โดยในปี 2011 อีเอเอสกลายเป็นการประชุมระดับผู้นำในประเด็นด้านการเมืองและความมั่นคงด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งช่วยยกระดับกฎระเบียบพื้นฐานและกระชับความร่วมมือในการผลักดันประเด็นปัญหา ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางทะเล การต่อกรกับลัทธิสุดโต่งรุนแรง และความร่วมมือด้านไซเบอร์

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ดำเนินกรอบข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างในปี 2009 ซึ่งสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯและประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ และลดช่องว่างการพัฒนาด้วยการเสริมสร้างศักยภาพให้กับสมาชิกอาเซียนที่มีการพัฒนาน้อยกว่าประเทศอื่น สหรัฐฯ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทั่วอาเซียน ทั้งโครงการผู้นำเยาวชนอาเซียน ซึ่งเข้าถึงเยาวชนแล้วมากกว่า 6 หมื่นคน (อายุระหว่าง 18-35 ปี) ทั่วอาเซียนและสหรัฐฯ โดยมีสมาชิกในไทยถึงกว่า 8,000 คน

โครงการดังกล่าวจะเอื้อประโยชน์แก่ทั้งสหรัฐฯ และอาเซียนสำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งการฝึกฝนกิจกรรมและโอกาสในการรับทุน รวมถึงยังเป็นกลไกที่ช่วยแก้ปัญหาในภูมิภาค ทั้งการสร้างผู้ประกอบการ การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการศึกษา ในปี 2012 สหรัฐฯ เปิดตัวโครงการริเริ่มแลกเปลี่ยนทางวิชาการฟุลไบรท์ สหรัฐฯ -อาเซียน ให้นักวิชาการจาก อาเซียนไปศึกษาในสหรัฐฯ ซึ่งสหรัฐฯ ให้ทุนแก่อาเซียนมากกว่า 700 ทุน/ปี และในปี 2014 สหรัฐฯ และอาเซียนได้ เปิดตัวโครงการทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียนสหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ทั่ว อาเซียนด้วยโอกาสในการได้แก้ปัญหาจริงของโลก เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การเปลี่ยนแปลงของสภาพ อากาศ และพลังงานทางเลือก ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯ ก็มีความเข้มแข็งและจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้น

โดยอาเซียนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 4 ของสหรัฐฯ และนับตั้งแต่ปี 2009 การค้ากับประเทศในอาเซียนขยายตัว ขึ้นถึงร้อยละ 55 ในขณะที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ เป็นผู้นำในการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (เอฟดีไอ) ในอาเซียน มากกว่า 2.28 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2008 มากกว่าที่สหรัฐฯ ลงทุนในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้รวมกัน นอกจากนี้ สหรัฐยังขยายความร่วมมือทางความมั่นคงกับประเทศในอาเซียน โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความมั่นคงสหรัฐฯ-อาเซียน ในฮาวายเมื่อปี 2014

ชาติสมาชิกอาเซียนนับเป็นพันธมิตรที่สำคัญในความร่วมมือด้านความมั่นคงต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือกลุ่มพันธมิตรโลกเพื่อต่อต้านกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลามในอิรักและเลอแวนต์ (ISIL) ซึ่งประกอบไปด้วยมาเลเซียและสิงคโปร์ และความร่วมมือเพื่อต่อต้านโจรสลัด ในแหลมแอฟริกา ประกอบไปด้วย ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ สหรัฐฯ และอาเซียนยังเป็นพันธมิตรเพื่อรับมือกับความท้าทายของโลกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น โดยมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ และสร้างสังคมที่ยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศมากขึ้น สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันต่าง ๆ ของอาเซียน เพื่อยกระดับความร่วมมือในการตอบสนองต่อภัยธรรมชาติและเพื่อสนับสนุนความริเริ่ม “ONE ASEAN, ONE Response” ซึ่งผลประโยชน์ของโครงการดังกล่าวเห็นได้ชัดจากความร่วมมือของสหรัฐฯ และไทยในการตอบสนองต่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเนปาล

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ได้ร่วมมือกับอาเซียนในการยกระดับวาระความมั่นคงทางด้านสุขภาพโลกและยินดีกับประเทศไทยที่เป็นผู้นำด้านนี้ในภูมิภาค โดยพวกเราสามารถรักษาชีวิตของผู้คนและยกระดับสันติภาพและความมั่นคง ด้วยการเร่งให้เกิดการป้องกันการตรวจหาและการตอบสนองอย่างต่อเนื่องต่อโรคติดต่อและความเสี่ยงในด้านนี้ ขณะที่การลงทุนในด้านสุขภาพและการศึกษาของสหรัฐฯ ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย สหรัฐฯ ยังสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อความพยายามของอาเซียน ในการตระหนักถึงการเป็นประชาคมที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อรับใช้ประชาชนของภูมิภาคนี้และรับประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนให้รับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมและนิติบัญญัติในประเทศด้วย สหรัฐฯ ให้คำมั่นอย่างหนักแน่นในการร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสนับสนุนความโปร่งใส ธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และสถาบันต่าง ๆ ที่เชื่อถือได้

โดยอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านค้ามนุษย์โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก ที่ประกาศใช้เมื่อเดือน พ.ย. 2015 นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญและทำให้เกิดกรอบการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และปกป้องประชาชนทั่วภูมิภาค ซึ่งสหรัฐฯ ยังให้คำมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาสำคัญนี้ด้วย ความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่หลากหลายร่วมกัน ตั้งแต่การต่อสู้กับการก่อการร้าย และการรับมือโรคระบาด ไปจนถึงการสนับสนุนบรรทัดฐานและกฎหมายระหว่างประเทศในทะเลจีนใต้ และในโลกไซเบอร์ ตลอดจนการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม และการค้ามนุษย์

ซึ่งในบรรดาความท้าทายทั้งหมดนี้และอื่น ๆ อีกมาก สหรัฐได้ให้คำมั่นแก่อาเซียนถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนของพวกเราและรับประกันถึงสันติภาพ ความมั่งคั่ง และความมั่นคงในศตวรรษที่ 21

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 4771 วันที่ 29 กุมภาพันธ์2559 หน้า B7

ขอบคุณข้อมูล: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Share This Post!

571 views

Newsletter Subscription

สนใจรับข่าวสารและกิจกรรมที่เป็นโอกาสของไทย
Email Address
Secure and Spam free...
Go to Top