อยากบอกให้อุ่นใจ น้ำปลาไทยยังขายในอเมริกา
ตามที่ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฎรายงานข่าวว่าน้ำปลาจากประเทศไทยมีปัญหาในการนำเข้าสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยอาจวิตกว่าที่ร้านจะขาด “หัวใจ” ในการปรุงอาหารไทยให้ลูกค้าในสหรัฐฯ ทานกัน นั้น ขอบอกว่าไม่ต้องตกใจ เพราะการห้ามนำเข้าชั่วคราวดังกล่าวบังคับใช้กับน้ำปลาบางยี่ห้อเท่านั้น
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงได้ชี้แจงว่า การออกประกาศเตือน (Import Alert) น้ำปลาไทยโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ (USFDA) ในครั้งนี้ ไม่ได้มีเหตุเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การห้ามนำเข้า (Import Ban) น้ำปลาจากประเทศไทยทั้งหมดอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นการห้ามนำเข้าเฉพาะผลิตภัณฑ์บางยี่ห้อจากโรงงานไทยที่อยู่ใน Import Alert เพียงเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งแต่อย่างใด เนื่องจากไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตน้ำปลาของไทย
สาเหตุที่ USFDA ได้ขึ้นบัญชีโรงงานผู้ผลิตน้ำปลาจากประเทศไทยบางแห่งไว้ในบัญชีเตือน (Import Alert) เลขที่ 16-120 ประเภท Detention without Physical Exam (DWPE) นั้น เนื่องมาจากกระบวนการผลิตของโรงงานดังกล่าวไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัย HACCP (21 CFR 123.3) ของ USFDA อาจจะก่อให้เกิดสารโบลูทินัม และสารฮีสตามีนในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ในส่วนหนทางแก้ไขสำหรับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อบัญชีเตือน บริษัทนั้นๆ จะต้องควบคุมการผลิตให้เกิดความปลอดภัยตามข้อกำหนด และ USFDA จะสุ่มตรวจสินค้าที่เข้ามาใหม่ ซึ่งต้องไม่พบปัญหาใดๆ อีกอย่างน้อย 5 Shipments บริษัทจึงสามารถยื่นเรื่องต่อ USFDA เพื่อขอถอดถอนรายชื่อสินค้าของตนออกจากบัญชีเตือนได้ ซึ่ง USFDA จะถอดสินค้าออกจากบัญชีเตือนเมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าสินค้าดังกล่าวมีการควบคุมความปลอดภัยตามข้อกำหนด
กรมประมงในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมงก่อนส่งออกไปต่างประเทศ ได้จัดทำและรวมรวมข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับการควบคุมกระบวนการหมักน้ำปลาที่สามารถป้องกันการเกิดสารโบลูทินัมและฮีสตามีน เพื่อนำเสนอและยืนยันความปลอดภัยต่อ USFDA อีกทางหนึ่ง อธิบดีกรมประมงยังเน้นย้ำให้ผู้ส่งออกไทยปฎิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สินค้าของตนเป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐฯ กำหนดและสามารถส่งออกได้
ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2561 สหรัฐฯ ประกาศรายชื่อประเทศผู้ส่งออกใน Import Alert เลขที่ 16-120 กว่า 40 ประเทศ และมีโรงงานในรายชื่อดังกล่าวกว่า 200 โรงงาน โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อดังกล่าวได้ที่ https://www.accessdata.fda.gov/cms_ia/importalert_25.html
เรื่อง นางสาวพิมพลอย วิวัฒนาไพบูลย์ลาภ
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ
ประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และกรมประมง