คำถามที่พบบ่อย2020-06-08T10:25:51-04:00

คำถามที่พบบ่อย

การโอนเงินกลับประเทศ

ตามสนธิสัญญา Treaty of Amity and Economic Relations ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่สหรัฐฯได้ทําการตกลงกับประเทศคู่ค้าซึ่งรวมถึงประเทศไทย เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและการทําธุรกิจในสหรัฐฯ ทั้งยังเป็นการสนับสนุนสิทธิพิเศษทางการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของกันและกัน ได้กำหนดกฎระเบียบการโอนเงินระหว่างประเทศไว้ในมาตรา 7 ซึ่งมีดังนี้คือทั้งสองประเทศจะไม่สามารถจํากัดการส่งเงินและโอนเงินระหว่างกันและกันได้ เว้นแต่กรณีที่1. การโอนเงินจะทําให้เกิดความมั่นคงทางด้านการแลกเปลี่ยนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการที่จําเป็นต่อประชากรในประเทศ ทั้งทางด้านสุขภาพและสวัสดิการทางสังคม2. ประเทศภายใต้สนธิสัญญาได้รับการอนุญาตให้ทําการโอนเงินได้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF)หากฝ่ายใดก็ตามบังคับใช้ข้อจํากัดว่าด้วยการแลกเปลี่ยนสกุลเงินฝ่ายนั้นจะต้องควบคุมดูแลว่าข้อจํากัดจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบกับอีกฝ่ายหนึ่งและกับประเทศที่ 3 ทางด้านการค้า การขนส่ง หรือการลงทุนทําธุรกิจ

การเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

การร่วมงานแสดงสินค้า (Tradeshow) เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับผู้ประกอบการในการประชาสัมพันธ์และเปิดตลาดสินค้าใหม่ แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับระยะเวลาที่จำกัด ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ก่อนการออกงานแสดงสินค้าแต่ละครั้ง ซึ่งประเด็นที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงได้แก่

1. การเลือกเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

ปัจจัยประการแรกที่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคือวัตถุประสงค์ของงานแสดงสินค้านั้นๆ ผู้ประกอบการควรเลือกงานแสดงสินค้าโดยพิจารณาจากคุณภาพและปริมาณของผู้เข้าชมงาน โดยวัตถุประสงค์ของงานแสดงสินค้าจะมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของสินค้าที่นำมาแสดงนั้นๆ ดังนั้นผู้ประกอบการควรศึกษาให้รอบคอบว่าผู้มาเข้าร่วมงานคือกลุ่มผู้บริโภคที่ตนต้องการเจาะตลาดอยู่ และกลุ่มผู้มาร่วมงานจะให้ความสนใจกับสินค้าที่ตนนำออกแสดงนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ ควรจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการออกงาน เช่น ค่าขนส่ง เดินทาง ค่าออกบูธ ค่าที่พัก ฯลฯ อีกด้วย

2. เป้าหมายของการเข้าร่วมงานแสดงสินค้า

การกำหนดเป้าหมายหรือผลลัพธ์จากการแสดงสินค้าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการประเมินได้ว่าการออกงานแสดงสินค้านั้นๆคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งเป้าหมายการแสดงสินค้าแต่ละครั้งอาจมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันไป เช่น การหานักลงทุน การหาผู้ร่วมธุรกิจ การเปิดช่องทางทางการตลาดใหม่ การสำรวจความต้องการของผู้บริโภค แนวโน้มตลาดในอนาคต และการประเมินความสามารถของคู่แข่ง เป็นต้น

การประเมินว่าการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านั้นบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ วัดได้โดยปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น หากเป้าหมายเป็นไปเพื่อการเปิดตัวสินค้าใหม่ อาจวัดได้จากยอดสั่งซื้อสินค้ารายนั้น หรือหากผู้ประกอบการต้องการหานักลงทุน ผู้ประกอบการควรจะคำนวนว่าธุรกิจของตนนั้นต้องการเม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนเท่าใด และคาดว่าการออกงานแสดงสินค้านั้นจะนำเงินลงทุนสู่ธุรกิจของตนได้ตรงตามตัวเลขที่ตั้งไว้หรือไม่

3. การจัดเตรียม ออกแบบสถานที่ที่ใช้แสดงสินค้า

การออกแบบสถานที่แสดงสินค้าหรือบูธเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดให้ผู้เข้ามาร่วมงานหยุดชมสินค้าที่แสดงนั้น การออกแบบบูธจึงต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้เข้าชมงานด้วย โดยผู้ประกอบการอาจใช้เครื่องมือประชาสัมพันธ์ เช่น การแจกตัวอย่างสินค้าทดลอง หรือแข่งขันเพื่อรับของรางวัลเล็กๆน้อยๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมงานได้

การออกแบบแผ่นป้ายบูธเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่จะดึงดูดความสนใจของผู้ชมงานได้ โดยแผ่นป้ายควรมีข้อความที่กระชับ เข้าใจได้ง่าย เน้นการสื่อสารกับกลุ่มตลาดเป้าหมายเป็นหลัก และควรเป็นแผ่นป้ายที่มองเห็นได้ง่ายและชัดเจน เป็นต้น

4. การให้บริการและการสื่อสารกับผู้เข้าชมสินค้า

เนื่องจากงานแสดงสินค้ามีเวลาจำกัด เจ้าหน้าที่ประจำบูธควรเตรียมตัวในการให้ข้อมูลสินค้าแก่ผู้สนใจในภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย และครอบคลุมวัตถุประสงค์หลักของสินค้า ทั้งนี้ผู้ให้ข้อมูลควรสอบหากลยุทธในการสื่อสารที่เพียงพอในการดึงดูดความสนใจของผู้สอบถามได้ นอกเหนือจากการโฆษณาสินค้าแล้ว การสื่อสารกับผู้เข้าชมงานเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการสำรวจตลาด โดยการสนทนากับผู้เข้าชมที่ตัดสินใจไม่ซื้อสินค้าของตนอาจทำให้ผู้ประกอบการสามารถประเมินได้ว่าอะไรเป็นประเด็นปัญหาที่ทำให้ผู้เข้าชมเหล่านั้นตัดสินใจไม่เป็นลูกค้า เจ้าหน้าที่ประจำบูธเป็นบุคคลที่สื่อภาพลักษณ์ของธุรกิจ และจะต้องสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่นำออกแสดง ดังนั้นผู้ที่จะรับหน้าที่นี้ควรเป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพเป็นกันเอง สุภาพ และมีความรู้ดีเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริษัทนั้นๆ

นอกเหนือจากการสื่อสารกับผู้เข้าชมงานในช่วงระหว่างงานแสดงสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการติดต่อกลับหลังเสร็จงานหรือ Follow Up กับกลุ่มผู้เข้าชมงานด้วย การติดต่อหลังจากงานแสดงเป็นการสร้างโอกาสทางตลาดที่แท้จริงของธุรกิจเนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจซื้อสินค้าทันทีในงานแสดงสินค้านั้นๆ การติดต่อกลับภายหลังงานแสดงสินค้าจึงเป็นช่องทางสำคัญในการจูงใจ รวมถึงการสำรวจตลาดในกลุ่มลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสนใจในการเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้สนใจผลิตภัณฑ์ในระหว่างงานร่วมแสดงสินค้าให้ครบถ้วนและถูกต้อง และไม่ควรทิ้งช่วงเวลาในการติดต่อกลับที่นานเกินไป นอกจากนี้การติดต่อกลับควรเลือกช่องทางที่หมาะสมและไม่เป็นการรบกวนลูกค้าจนเกินไป เช่น email เป็นต้น

ระเบียบข้อบังคับที่ควรทราบในการนำสินค้าเข้ามาแสดงในสหรัฐฯ

สิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติต่อศุลกากรสหรัฐฯ ในการนำเข้าสินค้าสำหรับงานแสดง (Tradeshow) ได้แก่

1. เอกสารทางราชการที่แสดงวันที่และสถานที่ของงานแสดงสินค้า

2. เอกสารรับรองว่าผู้นำเข้านั้นเป็นผู้แสดงสินค้าที่แท้จริง

3. เอกสารแสดงมูลค่าสินค้าต่างๆ ที่นำเข้า

4. สินค้าแต่ละชิ้นจะต้องมีป้าย “Not For Sale” หรือสร้างตำหนิใดๆ ไว้ซึ่งไม่อาจใช้ในการขายได้

5. ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งการนำเข้าสินค้าเพื่อการแสดงก่อนที่สินค้าจะมาถึงท่าศุลกากรนั้นๆ

6. สำหรับสินค้าที่มาจากเขตตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) จะต้องกรอกแบบฟอร์ม CF7523 เพื่อได้รับสิทธิการยกเว้นภาษี (ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกข้อตกลงนี้)

7. ตรวจสอบกับหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่ควบคุมดูแลสินค้าประเภทนั้นๆ เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าที่นำเข้าไม่ได้มีข้อห้ามหรือจำกัดการนำเข้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องติดต่อขอใบอนุญาตการนำเข้าจากหน่วยงานต่างๆ เหล่านี้คือ

– Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives — สินค้าประเภทสุรา ยาสูบ และอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด

– USDA Animal and plant Inspection Service — ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

– U.S. Fish and Wildlife Service — สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากสัตว์ป่าและปลาประเภทต่างๆ ทั้งที่มีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม

– Food and Drug Administration (FDA) — เวชภัณฑ์และอาหาร

– Consumer Product Safety Commission (CPSC) — สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องผ่านข้อบังคับและมาตรฐานที่ตั้งไว้ เช่น ของใช้สำหรับเด็ก ของใช้เคมีภัณฑ์ในครัวเรือน เป็นต้น

8. ผู้ส่งออกจะต้องทราบรหัสสินค้าหรือ HTSUS Code เพื่อแจ้งต่อศุลกากรได้อย่างถูกต้อง โดยรหัสสินค้าแต่ละประเภทจะมีข้อกำหนดศุลกากรที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การกรอกเอกสารเพื่อการนำเข้า-ส่งออก เช่น Certificate of Origin จะต้องใช้รหัสสินค้านี้ด้วย รายละเอียดของรหัสสินค้าทั้งหมดสามารถตรวจสอบได้ที่

http://www.census.gov/foreign-trade/schedules/b/2014/index.html

9. โดยปกติแล้วการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯ ที่มีมูลค่าไม่เกิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร ในกรณีที่สินค้าที่จะนำเข้ามีมูลค่าสูงกว่านี้ ผู้ประกอบการควรขอรับเอกสารที่เรียกว่า ATA Carnet ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิตามเอกสาร นำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกโดยที่ไม่ต้องเสียภาษี ขาเข้าและ Value Added Tax ใดๆ โดยสินค้าที่นำเข้า-ส่งออกจะต้องมีจุดประสงค์เพื่อการแสดงสินค้าเท่านั้น และจะต้องกลับสู่ประเทศต้นทางหลังจากการแสดงสินค้าเสร็จแล้ว ซึ่ง ATA Carnet จะมีอายุ 1 ปี โดยในช่วงปีที่ได้รับอนุญาตนั้นผู้มีสิทธิ์ตามเอกสารสามารถนำสินค้านั้นๆ เข้าออกสหรัฐฯและประเทศสมาชิก (รวมถึงประเทศไทย) ได้โดยไม่จำกัดครั้ง

อีกทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการที่ต้องการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯเพื่อการแสดงสินค้าคือการใช้ Temporary Importation under Bond (TIB) ซึ่งพันธบัตรนี้เป็นหลักประกันกัลศุลกากรสหรัฐฯ ว่าหากผู้ประกอบการไม่นำสินค้ากลับคืนสู่ประเทศต้นกำเนิดภายในหนึ่งปี ผู้ประกอบจะต้องรับผิดชอบชำระค่าธรรมเนียมศุลกากรต่างๆ นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าควบคุม เช่น ปืน หรือสุรา จะต้องมี TIB ประกอบไปด้วยทุกครั้ง

สำหรับรายละเอียดธรรมเนียมศุลกากรสหรัฐฯ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าเกิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ
สามารถตรวจสอบได้จาก https://help.cbp.gov/app/home/search/1

Go to Top