สินค้าอุตสาหกรรม2022-09-23T09:47:49-04:00

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์

ประเทศไทยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และส่วนประกอบ อยู่ที่ร้อยละ 61.48 ซึ่งยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อยู่ และที่ผ่านมาสามารถส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นมูลค่า 831,752.3 ล้านบาท โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน (ร้อยละ 19) อาเซียน (ร้อยละ 16) ยุโรป (ร้อยละ 15) ซึ่งประเทศเหล่านี้จะนำชิ้นส่วนดังกล่าวไปประกอบเป็นสินค้าสำเร็จรูป

นอกจากนี้ หากพิจารณาโครงสร้างอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า พบว่าประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของบริษัทข้ามชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งส่งผลให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ายังสามารถเจริญเติบโตได้ ประกอบกับความต้องการทางตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆของสินค้าประเภทนี้ โดยเฉพาะกลุ่มโทรศัพท์มือถือและ Tablet จึงทำให้อนาคตของธุรกิจประเภทนี้มีแนวโน้มสดใสในอนาคต

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสามารถทำรายได้จากการส่งออกให้กับประเทศจำนวนมาก และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ถือได้ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในด้านปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรความรู้ โดยมีการพัฒนาลักษณะการผลิตสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งทางด้านภูมิศาสตร์ยังมีความได้เปรียบเชิงการค้าในภูมิภาคอินโดจีน และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค จึงเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลเชิงบวกในด้านการขนส่ง อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังขาดศักยภาพในการแข่งขันด้านนวัตกรรม หรือความหลากหลายเชิงสร้างสรรค์เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น

ในด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ของไทยสู่สหรัฐฯ นั้น สหรัฐฯ เป็นแหล่งส่งออกอันดับ 4 ของไทย รองจากกลุ่มประเทศอาเซียน กลุ่มประเทศสหพันธรัฐยุโรป และประเทศจีนตามลำดับ

อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบ

ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบของประเทศไทยได้มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตรถยนต์หลักของโลก ในปี 2555 ประเทศไทยผลิตรถยนต์และส่วนประกอบเป็นอันดับเก้าของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของผู้ผลิตรถยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียน

อุตสาหกรรมยานยนต์และส่วนประกอบถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยที่สร้างงานและรายได้แก่คนไทยมากกว่า 500,000 คนในประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ

แม้ว่าตลาดรถยนต์ไทยในสหรัฐฯ จะยังไม่เฟื่องฟูเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับคู่ค้าสำคัญของไทยอย่างออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น แต่สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าที่สำคัญในการส่งออกยางรถยนต์ของไทย โดยในปี 2556 สหรัฐฯ นำเข้ายางรถยนต์จากไทยเป็นอันดับ 5 รองจากประเทศจีน แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนทางการตลาดร้อยละ 6.27 เป็นมูลค่า 813.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(Photo credit: http://www.nationmultimedia.com/business/Auto-sector-set-to-hit-3m-outpu…)

สาเหตุที่ธุรกิจยานยนต์และส่วนประกอบของไทยมีศักยภาพเนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานที่มีคุณภาพและราคาถูก ประกอบกับระบบโทรคมนาคมและระบบขนส่งที่ทันสมัยของประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าประเภทนี้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเป็นอีกหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมไทยที่เจริญเติบโตจากความได้เปรียบทางการค้าในด้านแรงงาน และระบบขนส่งของประเทศ ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงสามารถส่งออกเครื่องจักรกลได้เป็นมูลค่าเฉลี่ยราว 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2555

ประเภทของเครื่องจักรกลหลักๆ ที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทยนั้นได้แก่เครื่องแม่พิมพ์ เครื่องผลิตกระดาษและสิ่งพิมพ์ เครื่องจักรที่ใช้ในการบรรจุสิ่งของ (Packaging) และเครื่องจักรที่ใช้ในการทอและตัดเย็บเสื้อผ้า โดยไทยส่งออกเครื่องจักรกลสู่สหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น เป็นมูลค่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555

เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่อาศัยการใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นสำคัญและเน้นการจ้างงานช่างฝีมือภายในประเทศโดยประมาณร้อยละ 90 เป็นผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่ทำการผลิตเพื่อส่งออก วัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย คือ ไม้ยางพารา จึงเกิดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการเกษตรเนื่องด้วยประเทศไทยเป็นผู้ปลูกยางพารามากที่สุดในโลก และมีการนำไม้ยางพารามาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องของไม้ยางพาราเกิดขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ และชิ้นส่วนของไทยในปี 2556 มีมูลค่าประมาณ 1,143-1,176 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย แม้ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐฯ จะส่งผลให้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยอ่อนตัวลงในระยะปีหลัง แต่จากการที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านคุณภาพ ความปลอดภัยและประโยชน์ใช้สอยของสินค้ามากกว่าราคา จึงสามารถตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ยังอาจเป็นปัจจัยทำให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของเฟอร์นิเจอร์ไทยในสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้มากขึ้นในอนาคต

Go to Top