กฎระเบียบนำเข้า-ส่งออก2020-06-08T10:17:35-04:00

กฏระเบียบการนำเข้า-ส่งออก

กฎระเบียบการนำเข้าสินค้ามาขายในสหรัฐฯ

 

ข้อกําหนดศุลกากรสหรัฐฯ สําหรับผู้นําสินค้าเข้าสหรัฐฯ

หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ ไม่บังคับว่าผู้ประกอบธุรกิจนําสินค้าเข้าสหรัฐฯ จะต้องมีใบอนุญาตหรือใบอนุญาตประกอบการใดๆ แต่หน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับการนําเข้าสินค้านั้นๆ อาจกำหนดข้อบังคับให้ต้องมีใบอนุญาตประกอบการหรือประกาศนียบัตร ซึ่งขึ้นอยู่กับสินค้าที่นำเข้า

ในแบบฟอร์มขอนําเข้าของศุลกากรจะมีช่องให้ผู้นำเข้ากรอกหมายเลขประจําตัวของผู้นําเข้าซึ่งได้แก่หมายเลขการจดทะเบียนทําธุรกิจไว้กับหน่วยงานสรรพกรสหรัฐฯ (U.S. Internal Revenue Service-IRS) ในกรณีที่ผู้นําเข้าไม่ได้ทําการจดทะเบียนทำธุรกิจไว้กับ IRS ผู้นําเข้าอาจจะใช้หมายเลขโซเชียล (Social Security Number) ของตนแทน

ผู้นําเข้าต้องแจ้งมูลค่าสินค้า ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในการตัดสินมูลค่าภาษีนําเข้าที่ศุลกากรได้กําหนดไว้ตายตัว โดยมูลค่าสินค้าในที่นี้คือราคาจริงที่ผู้ขายขายให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งอาจรวมถึงค่าใช้จ่ายในการบรรจุสินค้า ค่าคอมมิชชั่น ค่าธรรมเนียม License หรือรอยัลตี้ที่จ่ายชําระให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์สินค้า ในกรณีที่ไม่สามารถกําหนดมูลค่าสินค้าได้ ศุลกากรสหรัฐฯ จะกําหนดมูลค่าสินค้านั้นๆ ตามมูลค่าสินค้าอื่นที่เหมือนกัน (identical merchandise) และในกรณีที่ไม่สามารถหาสินค้าอื่นที่เหมือนกันได้ ก็จะใช้มูลค่าของสินค้าที่คล้ายคลึงกัน (similar merchandise) เป็นเกณฑ์  สินค้าที่คล้ายคลึงกันหมายถึงสินค้าที่ผลิตในประเทศเดียวกัน โดยบุคคลเดียวกัน และต้องเป็นสินค้าที่สามารถทดแทนกันได้ในทางการค้ากับสินค้าที่ต้องการนําเข้า สินค้าที่เหมือนกันหรือที่คล้ายคลึงกันจะต้องเป็นสินค้าที่ถูกส่งออกจากประเทศไทยเพื่อนําเข้าตลาดสหรัฐฯ ในช่วงเวลาเดียวกันกับสินค้านําเข้าที่กำลังถูกประเมินมูลค่า

ผู้นําเข้าจะต้องระบุรหัสศุลกากรของสินค้าที่ต้องการนําเข้าสหรัฐฯ โดยใช้รหัสศุลกากรสหรัฐฯ (Harmonized Tariff Schedule of the United States – HTSUS) ที่กําหนดโดย United States International Trade Commission (U.S. ITC) และระบุรายละเอียดสินค้าและอัตราภาษีนําเข้าแยกตามประเภทของสินค้า ในกรณีที่สินค้านําเข้าอยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษี ผู้นำเข้าจะต้องจ่ายภาษีนําเข้าตามราคาประเมินของศุลกากรสหรัฐฯ และจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำงานของศุลกากรสหรัฐฯ (processing fees) ไปก่อน ศุลกากรสหรัฐฯ จะตัดสินอัตราภาษีนําเข้าที่แท้จริงในภายหลังและจะเรียกเก็บเงินเพิ่มหรือจ่ายชําระเงินคืนให้แก่ผู้นำเข้าแล้วแต่กรณี

การแจ้งนําเข้า

เพื่อความรวดเร็วในการตรวจปล่อยสินค้า ศุลกากรสหรัฐฯ แนะนําให้ใช้การแจ้งนําเข้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือ Customs Automated Commercial System (ACS) ไปยังศุลกากรสหรัฐฯ ระบบ ACS จะช่วยย่นระยะเวลาการตรวจปล่อยสินค้าลงอย่างมาก ผู้นำเข้าสินค้าอาจใช้ระบบการแจ้งนําเข้าของ Custom Broker ที่เรียกว่า Automated Broker Interface (ABI) ควบคู่ไปกับระบบ ACS ด้วยก็ได้

เมื่อสินค้าเดินทางมาถึงด่านหรือท่านำเข้า ศุลกากรสหรัฐฯ ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งแก่ผู้นำเข้าว่าสินค้าเดินทางมาถึงแล้ว แต่เป็นความรับผิดชอบของเจ้าของสินค้าที่จะต้องทราบและยื่นหนังสือแจ้งการนําเข้ากับศุลกากรสหรัฐฯ โดยทันที ทั้งนี้ หากไม่ได้ยื่นแจ้งต่อศุลกากรสหรัฐฯ ภายใน 15 วันนับจากวันที่สินค้าเดินทางไปถึงท่านําเข้า ศุลกากรสหรัฐฯ จะส่งสินค้านั้นเข้าไปเก็บในโกดัง (general order warehouse) ในฐานะสินค้าที่ไม่มีเจ้าของ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการดําเนินการของศุลกากรในการนี้ รวมถึงค่าเก็บสินค้าไว้ในโกดังเป็นความรับผิดชอบของเจ้าของสินค้า และหากว่ายังไม่มีผู้ใดยื่นแจ้งนําเข้าสินค้ากับศุลกากรสหรัฐฯ ภายในเวลา 6 เดือนนับจากวันที่สินค้าเดินทางไปถึงท่านําเข้า ศุลกากรสหรัฐฯ จะนําสินค้านั้นออกขายทอดตลาด

การนำเข้า (Entry)

การนําเข้าจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อสินค้าเดินทางไปถึงเขตที่เป็นหรือถือว่าเป็นท่านําเข้า  และศุลกากรสหรัฐฯ ได้รับเอกสารต่างๆ ที่จําเป็นครบถ้วนแล้ว

ชนิดของการนําเข้า

1. การนำเข้าบางรายการจะต้องกระทําที่ท่านําเข้าท่าแรกที่สินค้าเดินทางไปถึง ซึ่งปกติแล้วจะเป็นสินค้าสําหรับการบริโภค

2. Immediate Transit การนำเข้าบางรายการอาจจะไปกระทําการที่ด่านศุลกากรอื่นที่ไม่ใช่ที่ท่านําเข้าท่าแรก สินค้าจะถูกส่งไปยังด่านศุลกากรที่ท่านําเข้าปลายทาง สินค้านําเข้าประเภทนี้จะต้องมีการวางเงินค่าประกันก่อนส่งสินค้าออกจากท่านําเข้าต้นทางไปยังท่านําเข้าปลายทาง การดําเนินการต่างๆ ตามพิธีการศุลกากร รวมถึงการจ่ายชําระเงินต่างๆ จะไปกระทําที่ท่านําเข้าปลายทาง การจัดการส่งสินค้าสําหรับการนําเข้าชนิดนี้ควรจะมีการเตรียมการไว้แล้วล่วงหน้าก่อนสินค้าเดินทางออกจากต้นทาง

3. การนําเข้าบางรายการจะเป็นการนำเข้าไปยังโกดัง (Warehouse Entry) โกดังเก็บสินค้าจะต้องมีการค้ำประกัน การจ่ายชําระภาษีนําเข้าและค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งจะกระทําเมื่อมีการถอนสินค้าออกจากโกดังไป

4. Temporary Import สินค้านําเข้าสหรัฐฯ เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งออกต่อไปยังประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางจะต้องมีการวางเงินค้ำประกันและปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่กฎหมายกําหนด

พิธีการนำเข้า

พิธีการนําสินค้าเข้าสหรัฐฯ มีอยู่ด้วยกัน 2 พิธีคือ

1. การนำเข้าอย่างเป็นทางการ (Formal Entry)

ปกติแล้วการนําเข้าเพื่อการค้าจะต้องทำพิธีการนำเข้าอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ศุลกากรสหรัฐฯ มีอํานาจที่จะสั่งให้การนําเข้าใดๆ ก็ตาม ต้องทําพิธีการนําเข้าอย่างเป็นทางการ ถ้าหากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายใดๆ

การนำเข้าในลักษณะนี้ ผู้นำเข้าจะต้องวางเงินค้ำประกันไว้กับศุลกากรสหรัฐฯ เพื่อเป็นหลักประกันว่าศุลกากรจะสามารถเก็บเงินได้ในกรณีที่ผู้นําเข้าไม่ทำตามกฎข้อบังคับต่างๆ เงินค้ำประกันนี้ต้องมาจากการซื้อประกันไว้กับบริษัทประกัน (Surety Bond) ที่ได้รับการอนุญาตจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (Treasury Department) ให้สามารถออกเงินค้ำประกันศุลกากรได้ ผู้นําเข้าที่มี Surety Bond จะสามารถเข้าไปถือครองสินค้านําเข้าได้ก่อนที่จะทําการจ่ายชําระภาษีนําเข้า ภาษีอื่นๆ และค่าธรรมเนียมต่างๆ

เอกสารที่จําเป็นสําหรับการนําเข้าอย่างเป็นทางการ สําหรับสินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือกฎข้อบังคับอื่นๆคือ

  • Bill of lading, airway bill หรือใบประกาศนียบัตรที่ระบุว่า Consignee มีสิทธิที่จะทําการนําเข้าสินค้ารายการนั้นๆ
  • Commercial invoice ที่ผู้ขายสินค้าออกให้ แสดงมูลค่าและรายละเอียดสินค้า
  • แบบฟอร์ม Customs Form 7533 (Entry manifest) หรือแบบฟอร์ม Customs Form 3461 (Entry/Immediate Delivery)
  • Packing lists ถ้าจําเป็นต้องมี และเอกสารอื่นๆที่จําเป็นที่จะระบุว่าสินค้านั้นๆ สามารถนําเข้าสหรัฐฯ ได้หรือไม่

2. การนำเข้าอย่างไม่เป็นทางการ (Informal Entry)

เป็นการนําเข้าเพื่อการบริโภค อาจจะเป็นการนําไปใช้หรือไปขายต่อก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วเป็นการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการไม่สามารถทำการนําเข้าในลักษณะนี้ได้ เช่น สินค้าสิ่งทอ รองเท้าบางชนิด และสินค้าต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับเรื่องโควต้า หรือต้องมีวีซ่าการนําเข้าในลักษณะนี้แบบไม่ต้องมีการวางเงินค้ำประกัน

การระบุกลุ่มสินค้าตามรหัสศุลกากรสหรัฐฯ จะเป็นหน้าที่ของศุลกากร ไม่ใช่หน้าที่ของผู้นำเข้า ศุลกากรผู้ทําหน้าที่ตรวจสินค้า (Custom Inspector) จะเป็นผู้กรอกแบบฟอร์มต่างๆ ที่จําเป็นสำหรับการนําเข้าอย่างไม่เป็นทางการให้กับผู้นําเข้า และนี่เป็นสิ่งเดียวที่ศุลกากรสหรัฐฯ จะกระทําการแทนผู้นําเข้า กฎหมายสหรัฐฯ ห้ามเจ้าหน้าที่ศุลกากรสหรัฐฯ กระทําการอื่นๆ ให้กับผู้นําเข้านอกเหนือไปจากการให้คําแนะนํา ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับข้อกำหนดต่างๆ ของศุลกากร

ขั้นตอนการตรวจปล่อยสินค้า

1. ก่อนการตรวจปล่อยสินค้า

สินค้านําเข้าจะได้รับการตรวจปล่อยและเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้ก็ต่อเมื่อ

  • เอกสารนําเข้าต่างๆ ที่ศุลกากรสหรัฐฯ ต้องการนั้นถึงมือศุลกากรสหรัฐฯ ก่อนที่สินค้าจะเดินทางไปถึงท่านําเข้าสินค้า และมีการปฏิบัติการต่างๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมายสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องของการผลิต การทำเครื่องหมาย มาตรฐานความปลอดภัย การทําบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ
  • มีเอกสารที่จําเป็นครบถ้วน เช่น ใบอนุญาต (permit) ใบอนุญาตประกอบการ (license) ใบรับรอง (certificate) ฯลฯ เอกสารเหล่านี้บางครั้งจะต้องถึงมือศุลกากรสหรัฐฯ หรือหน่วยงานราชการสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องก่อนที่สินค้าจะเดินทางไปถึงสหรัฐฯ

2. การตรวจสินค้า

2.1 สถานที่ตรวจสินค้า

  • การตรวจสินค้าที่เป็นการจัดส่งสินค้าขนาดเล็ก สามารถกระทําที่ท่าขนถ่ายสินค้า (docks, container stations, cargo terminals) หรือสถานที่ของผู้นำเข้า ก่อนปล่อยสินค้าทั้งหมดให้แก่ผู้นำเข้า
  • การตรวจสินค้าสำหรับการจัดส่งบางประเภท ศุลกากรสหรัฐฯ อาจดึงตัวอย่างสินค้าออกมาเก็บไว้เพื่อประเมินภาษี และปล่อยสินค้าที่เหลือให้แก่ผู้นำเข้า สินค้าตัวอย่างที่ดึงออกมาจะถูกส่งคืนให้แก่ผู้นำเข้าเมื่อศุลกากรสหรัฐฯ ตรวจและประเมินภาษีแล้ว

2.2. เป้าหมายของการตรวจสินค้าของศุลกากรสหรัฐฯ

  • เพื่อตัดสินในเรื่องของ มูลค่าของสินค้า สถานะภาพการเสียภาษีนําเข้า และอัตราภาษีนําเข้า
  • เพื่อดูว่ามีการทำเครื่องหมาย ประเทศที่ผลิต (Country of Origin) เครื่องหมายหรือการปิดฉลากที่เป็นพิเศษอื่นๆ ที่จําเป็นอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ดี สินค้าบางรายการจะได้รับการยกเว้นจากข้อกําหนดเรื่องเครื่องหมาย Country of Origin
  • สินค้ามีใบแจ้งหนี้ที่ถูกต้องหรือไม่
  • มีสินค้าต้องห้าม ผิดกฎหมาย ติดมาด้วยหรือไม่
  • ปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานราชการอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ หรือไม่
  • จํานวนสินค้าตรงตามกับที่ระบุไว้ในใบแจ้งหนี้หรือไม่

3. การตรวจสินค้า

ศุลกากรสหรัฐฯ อาจส่งตัวอย่างสินค้าไปทําการวิเคราะห์ในห้องทดลองเพื่อตัดสินหมวดหมู่สินค้าที่ถูกต้องตามรหัสศุลกากรสหรัฐฯ เพื่อตัดสินว่ามีการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของหน่วยงานต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เป็นสินค้าปลอมหรือมีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่

ปัญหาการนำเข้า

การนําเข้าที่เป็นปัญหากับศุลกากรสหรัฐฯ อาจจะเกิดขึ้นในกรณี

1. สินค้าไม่ตรงตามที่ระบุในเอกสารนำเข้า ในเรื่องของชนิด ปริมาณ หรือมูลค่า

2. การระบุประเภทของสินค้าตามรหัสศุลกากรสหรัฐฯ ไม่ถูกต้อง อัตราภาษีที่ผู้นำเข้าระบุไม่ถูกต้อง หากเป็นการกระทําโดยตั้งใจ ศุลกากรสหรัฐฯ มีอํานาจสั่งปรับหรือสั่งลงโทษ

การดำเนินการเมื่อเกิดปัญหา

สินค้าที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าด้วยเหตุผลเรื่องการฝ่าฝืนต่างๆ จะต้องผ่านการดําเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้คือ

1. แก้ไขให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ เพื่อให้ศุลกากรสหรัฐฯ ยอมรับและตรวจปล่อยออกสู่ตลาด

2. ทําลายสินค้านั้นทิ้ง ภายใต้การดูแลควบคุมของศุลกากรสหรัฐฯ

3. ส่งสินค้านั้นกลับคืนออกไปประเทศต้นทาง ภายใต้การดูแลควบคุมของศุลกากรสหรัฐฯ

สิทธิของผู้นำเข้าในการโต้แย้งกับศุลกากรสหรัฐฯ

ผู้นําเข้ามีสิทธิในการโต้แย้งกับศุลกากรสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องกระทำภายใน 90 วัน นับจากวันที่ศุลกากรสหรัฐฯตัดสินให้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งกับสินค้าที่นําเข้า

การโต้แย้งในครั้งแรกให้กระทํากับ Director of Port ของท่านําเข้าแรก ซึ่งบุคคลนี้คือผู้เซ็นคําสั่งให้กระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งกับสินค้านําเข้า ในการยื่นโต้แย้งครั้งแรกจะต้องระบุคําร้องขอให้มีการทบทวนครั้งต่อไปถ้าจำเป็น และอาจจะใช้การต่อสู้ทางศาลผ่านทาง U.S. Court of International Trade ได้

สินค้านำเข้าที่มีข้อกำหนดพิเศษ

  • สินค้าที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าหรือใบอนุญาตประกอบการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

  • สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์

  • ยารักษาโรคบางรายการ

  • อาวุธและลูกปืน

  • ผลไม้ ผลพืชเปลือกแข็งประเภทถั่วต่างๆ (nuts)

  • เนื้อและผลิตภัณฑ์จากเนื้อ

  • นม ไข่ ผลิตภัณฑ์เนย และผลิตภัณฑ์ที่ทําจากนมและเนย

  • พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช

  • เนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ปีก

  • น้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม

  • ผัก

  • สินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า (trademark) หรือมีลิขสิทธิ์ (copyright) การนําเข้าต้องกระทําตามกฎระเบียบที่กำหนด หรือในบางกรณีอาจมีการห้ามนำเข้า

  • สินค้าที่ต้องมีการปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ

  • งานศิลปะ

  • สินค้าที่เป็นงานทางวัฒนธรรม

  • สินค้าที่เป็นอันตราย เป็นพิษ หรือติดไฟได้ง่าย

  • สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน

  • ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าบางรายการ

  • ของเล่นและผลิตภัณฑ์สําหรับเด็ก

  • สินค้าที่มีมาตรฐานพิเศษ หรือจำเป็นต้องมีการทําการประกาศ (declaration) การทำเครื่องหมายหรือการทำฉลากที่เป็นพิเศษ สินค้าบางรายการในกลุ่มนี้ได้แก่

  • สิ่งทอ

  • เสื้อผ้าสําเร็จรูป

  • รถยนต์

  • เรือ

  • วิทยุ

  • เครื่องเล่นซีดี

  • โทรทัศน์

  • เครื่องเล่นซีดี

  • เครื่องมือทางการแพทย์

  • สินค้าบางรายการต้องได้รับการตรวจสอบว่าเหมาะสมกับการใช้ ไม่มีการเจือปน ตามโค้วตาที่กําหนดปริมาณการนําเข้า

  •  สินค้าที่อยู่ภายใต้โควต้าการนําเข้าและต้องมีวีซ่านำเข้า

  • สินค้าบางรายการห้ามนำเข้า หรืออยู่ภายใต้ข้อจํากัดที่เข้มงวด ได้แก่ สินค้าจากประเทศคิวบา อิหร่าน อิรัก ลิเบีย เกาหลีเหนือ ไซบีเรีย ซูดาน

หน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่มีบทบาทต่อการควบคุมสินค้านำเข้า

1. Bureau of Alcohol, Tobacco, and Firearms ควบคุมสินค้าเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ อาวุธ และลูกปืน

2. Animal and Plant Inspection Service ควบคุมผลิตภัณฑ์จากสัตว์และพืช

3. U.S. Fish and Wildlife Service ควบคุมสินค้าประเภทปลา และสัตว์ป่า

4. Food and Drug Administration (FDA) ควบคุมสินค้าอาหารและยา

5. Consumer Product Safety Commission ควบคุมสินค้าทั่วไป สําหรับผู้บริโภค

กฎระเบียบการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ

ก่อนการส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ ไปสู่ประเทศต่างๆ ผู้ส่งออกต้องทราบก่อนว่าสินค้านั้นๆต้องได้รับใบอนุญาตการส่งออก (export license) ก่อนหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ส่งออกยังต้องทราบให้แน่ใจว่าสินค้าที่ตนจะส่งออกนั้นไม่ใช่สินค้าควบคุมหรือห้ามนำเข้าในประเทศปลายทางซึ่งข้อมูลคร่าวๆที่ผู้ที่สนใจนำสินค้าจากสหรัฐฯ ไปจำหน่ายในประเทศไทยควรทราบมีดังนี้คือ

ใบอนุญาตการส่งออก (Export License)

ใบอนุญาตการส่งออก เป็นเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานรัฐบาลของสหรัฐฯ ซึ่งรับรองสถานะของผู้ส่งออกว่าได้รับอนุญาตในการส่งออกสินค้าประเภทนั้นๆ ได้ ประเภทของใบอนุญาตการส่งออกจะถูกกำหนดด้วยลักษณะของสินค้า ประเทศที่ผลิตสินค้า การใช้ประโยชน์ และผู้จะใช้ประโยชน์ในสินค้านั้นๆ

ส่วนใหญ่แล้ว การส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ สู่ประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯก่อนการส่งออก มีเพียงสินค้าส่วนน้อยบางประเภทที่ต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐบาล ก่อนที่จะสามารถผ่านด่านศุลกากรสหรัฐฯได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นหน้าที่ของผู้ส่งออกเองที่จะต้องตรวจสอบว่าสินค้าของตนนั้น ตกอยู่ภายใต้การควบคุมการส่งออกหรือไม่

หน่วยงานของสหรัฐฯ ที่มีหน้าที่ในการออกใบอนุญาตการส่งออก ได้แก่หน่วยงานเหล่านี้คือ

  • Department of Commerce, Bureau of Industry and Security ควบคุมและออกใบอนุญาตการส่งออกสินค้าที่มีผลโดยตรงต่อความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายต่างประเทศ สินค้าที่ขาดแคลนหรือมีจำกัดในสหรัฐฯ อาวุธนิวเคลียร์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับจรวดมิสไซล์ (missile) อาวุธเคมีภาพและชีวภาพ สินค้าที่อาจมีผลต่อความมั่นคงและปลอดภัยในภูมิภาค การควบคุมอาชญากรรม หรือการก่อการร้าย
  • Department of State, Directorate of Defense Trade Controls (DDTC)  ผู้ส่งออกที่ต้องการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงาน DDTC ก่อน
  • Nuclear Regulatory Commission สำหรับการส่งออกอาวุธหรืออุปกรณ์นิวเคลียร์ต่างๆ
  • Department of Energy, the Office of Imports and Exports สำหรับการส่งออกพลังงานจากน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ พลังงานไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ หรือสิ่งใดๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านพลังงานและไฟฟ้า
  • Drug Enforcement Administration (DEA) หน่วยงาน DEA มีหน้าที่ควบคุมและออกใบอนุญาตการส่งออกยา และเคมีภัณฑ์ต่างๆ
  • Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives ทำหน้าที่ควบคุมการส่งออกสินค้าประเภทสุรา ยาสูบ อาวุธและสินค้าที่ก่อให้เกิดการประทุระเบิดได้
  • U.S. Department of the Treasury, Office of Foreign Asset Control (OFAC) ทำหน้าที่ควบคุมการโอนเงินและซื้อขายข้ามชาติ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เห็นว่าอาจสร้างผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเงิน การปกครอง และความปลอดภัยในประเทศ หน่วยงาน OFAC มีอำนาจระงับการเคลื่อนไหวของสินค้าและเงิน และสามารถดำเนินการทางกฎหมาย หากมีสิ่งที่ทำให้เชื่อว่าการกระทำนั้นอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ

สำหรับรายละเอียดสินค้าที่ต้องได้รับอนุญาตการส่งออก รวมทั้งขั้นตอนการขอใบอนุญาตการส่งออก ผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าว หรือโทรสอบถามรายละเอียดและคำแนะนำจาก Trade Information Center (TIC) ได้ที่หมายเลข (800) 872 8723

Go to Top