จัดตั้งบริษัท2023-08-22T16:24:47-04:00

การจัดตั้งบริษัท

ขั้นตอนและกฎระเบียบในการจัดตั้งบริษัทในสหรัฐฯ จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจหรือนักลงทุนจะต้องศึกษาหาข้อมูลด้านกฎหมายและภาษีของรัฐนั้นๆ ด้วย ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทหรือธุรกิจในสหรัฐฯ ควรทราบข้อมูลดังต่อไปนี้คือ

1. รูปแบบธุรกิจ สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทดังนี้

1.1 กิจการเจ้าของคนเดียว คือธุรกิจที่มีบุคคลเดียวเป็นเจ้าของซึ่งกฎหมายการลงทุนชนิดนี้อาจไม่เหมือนกันในทุกมลรัฐ โดยในบางมลรัฐผู้สนใจการลงทุนชนิดนี้จะต้องทำการจดทะเบียนธุรกิจก่อน ทั้งนี้รายได้ทั้งหมดรวมถึงหนี้สินจะตกเป็นของเจ้าของกิจการแต่เพียงผู้เดียวหลังหักจ่ายภาษีอากรแล้ว

1.2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือธุรกิจที่มีตั้งแต่ 2 บุคคลขึ้นไปเป็นเจ้าของโดยทำสัญญาการทำธุรกิจร่วมกันซึ่งกำไรและหนี้สินที่เกิดจากการทำธุรกิจจะถูกแบ่งเท่าๆ กันตามจำนวนหุ้นส่วน ทั้งนี้ หากธุรกิจนั้นๆ มีการซื้อขายในตลาดหุ้นจะต้องมีการตรวจสอบบัญชี (Auditing) ตามมาตรฐานของ Generally Accepted Accounting Principles (GAAP) ด้วย นอกจากนี้การเป็นหุ้นส่วนจะยุติลงต่อเมื่อหุ้นส่วนได้ถึงแก่กรรม เป็นบุคคลทุพพลภาพ หรือขอถอนหุ้นออกจากกิจการที่ตนเองเป็นหุ้นส่วนอยู่

1.3. บริษัท (Corporations) คือธุรกิจที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติใดก็ได้ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปเป็นเจ้าของ โดยมี Board of Directors เป็นผู้ดูแลกำกับนโยบายและเรื่องทั่วไปของบริษัท ซึ่งการเป็นเจ้าของบริษัท สามารถทำได้โดยการซื้อหุ้นของบริษัท โดยผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมได้และจะได้รับเงินปันผลกำไรจากบริษัท หากบริษัทที่ผู้ถือหุ้นล้มละลาย ผู้ถือหุ้นอาจไม่ได้เงินลงทุนทั้งหมดกลับคืนมา ทั้งนี้การจดทะเบียนบริษัทสามารถทำได้โดยติดต่อหน่วยราชการของมลรัฐที่จะตั้งธุรกิจซึ่งค่าธรรมเนียมจะแตกต่างกันไปตามมลรัฐ

1.4. บริษัทจำกัด (LLC – Limited Liability Companies) เป็นการร่วมลงทุนจากผู้ถือหุ้นหลายราย โดยผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะรับผิดชอบหนี้สินของบริษัทไม่เกินมูลค่าที่ตนถืออยู่ ทั้งนี้ บริษัทจำกัดจะต้องทำการจดทะเบียนและมีคำว่า “LLC” ต่อท้ายชื่อบริษัท การคิดภาษีจะเหมือนกันกับรูปแบบการลงทุนแบบบริษัท (Corporations) อย่างไรก็ดี บริษัทจำกัดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่กำลังได้รับความสนใจในสหรัฐฯ มากที่สุดในขณะนี้เนื่องจากมีโครงสร้างที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่าย

1.5. สาขา (Branches) คือการที่บริษัทต่างประเทศสามารถเปิดสาขาในมลรัฐใดมลรัฐหนึ่งในสหรัฐฯ ได้โดยจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายบริษัท (Corporate Laws) ท้องถิ่นและจ่ายภาษีของมลรัฐนั้นๆ รวมถึงต้องขึ้นทะเบียนบริษัทต่างชาติ (Foreign Corporation) ด้วย

การลงทุนร่วมกัน (Joint Ventures) เป็นการลงทุนชนิดห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือบริษัทก็ได้ ซึ่งการจัดเก็บภาษีจะเป็นอัตราตามชนิดการลงทุนนั้นๆทั้งนี้รูปแบบการลงทุนชนิดนี้ไม่มีการจำกัดหรือข้อบังคับใดๆ ในสหรัฐฯ

2. การขอใบประกอบการธุรกิจหรือ Business License

การขอจัดตั้งธุรกิจนั้นโดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะต้องทำการขอ Business License กับรัฐที่ธุรกิจนั้นตั้งอยู่ยกเว้นแต่ธุรกิจบางประเภทจะต้องได้รับความอนุญาตจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในการทำธุรกิจด้วยซึ่งธุรกิจเหล่านั้นได้แก่

2.1 ธุรกิจการเกษตรที่ใช้สินค้าการเกษตรนำเข้า

2.2 ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มมึนเมา

2.3 ธุรกิจการบิน

2.4 ธุรกิจค้าขายอาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด

2.5 ธุรกิจแลกเปลี่ยนซื้อขายสัตว์ป่า หรือสัตว์น้ำประเภทต่างๆ

2.6 ธุรกิจการประมง

2.7 ธุรกิจให้บริการการเดินทางหรือขนส่งทางเรือเดินสมุทร

2.8 ธุรกิจขุดเจาะเหมืองแร่

2.9 ธุรกิจพลังงานนิวเคลียร์

2.10 ธุรกิจสื่อทางโทรทัศน์และวิทยุ

2.11 ธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่ง

3. ภาษี

ระบบการจัดเก็บภาษีในสหรัฐฯ มีความสลับซับซ้อนและไม่แน่นอน ดังนั้นผู้สนใจที่จะลงทุนในสหรัฐฯ ควรติดต่อว่าจ้างทนายความท้องถิ่นในการให้คําแนะนําในเรื่องประเด็นภาษีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว ระบบการจัดเก็บภาษีในสหรัฐฯ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระดับ ซึ่งได้แก่ระดับสหพันธรัฐ (federal) และระดับมลรัฐและท้องถิ่น (States and local) โดยภาษีจะหักเก็บจากรายได้ของประชาชนทุกคน (individuals) บริษัท (corporations) สินเชื่อ (trusts) ที่ดิน (estates) ของขวัญ (gifts) และบัญชีเงินเดือน (payroll) ทั้งนี้ผู้มีรายได้จะต้องเสียภาษีทั้ง 2 ระดับ ทั้งนี้ รายละเอียดอัตราการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ ในรูปแบบต่างๆ มีดังนี้

การเรียกเก็บเงินปันผลของบริษัท
จะแบ่งเป็น 2 ครั้ง คือเมื่อบริษัทจ่ายเงินภาษีบริษัทและเมื่อผู้ได้รับเงินปันผลจ่ายเงินภาษีส่วนบุคคล (อัตราภาษีสูงสุดร้อยละ 15)

สหรัฐฯ มีสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องการเก็บภาษีกับประเทศไทย (Income Tax Treaty)

ซึ่งช่วยเหลือผู้ลงทุนไทยในสหรัฐฯ ในการลดหย่อนภาษีที่จะต้องจ่ายให้รัฐบาลจากรายได้ที่มาจากการลงทุนในสหรัฐฯ โดยการจัดเก็บภาษีนี้มีจุดประสงค์เพื่อ

1. ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศหรือเพื่อช่วยเหลือผู้ลงทุนสหรัฐฯ ในต่างแดน

2. เพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้อน (double taxation) และ

3. ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ (income tax) โดยรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมลรัฐหรือจังหวัดสามารถนําข้อมูลของผู้เสียภาษีมาเผยแพร่ให้กันและกันได้ ทั้งนี้ สนธิสัญญานี้จะบังคับใช้กับพลเมืองของไทยและสหรัฐฯ

สนธิสัญญานี้มีผลบังคับใช้กับภาษีเงินได้เท่านั้นโดยยกเว้นภาษีประกันสังคม (social security tax) ในส่วนของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาจะรวมถึงภาษีทั่วไปและภาษีนํ้ามันปิโตรเลียมในส่วนของไทย

Go to Top