ข้อมูลทั่วไป
สหรัฐอเมริกา หรือ United States of America (USA)
เป็นสหพันธรัฐที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยอิงกับรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย 50 รัฐ และ 1 เขตปกครองพิเศษ รัฐ 48 รัฐที่เชื่อมต่อกันและเขตปกครองของรัฐบาลกลางแห่งวอชิงตัน ดีซี ตั้งอยู่ในอเมริกาเหนือ ระหว่างประเทศแคนาดาและประเทศเม็กซิโก รัฐอลาสก้าอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาเหนือ และรัฐฮาวายเป็นหมู่เกาะอยู่กลางมหาสมุทร แปซิฟิค ประเทศสหรัฐฯ ยังมีอาณาเขตอีก 5 แห่งที่มีประชากรอาศัยอยู่ และ 9 แห่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ซึ่งเขตเหล่านี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิคและทะเลแคริเบียน นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 3.7 ล้านตารางไมล์ หรือ 9.83 ล้านตารางกิโลเมตร และมีประชากรราว 331,449,281 คน (ประมาณการณ์โดย U.S. Census ณ เดือนเมษายน ปี 2564)
รายชื่อรัฐหรือเขตการปกครอง
สหรัฐฯ ประกอบไปด้วย 50 รัฐ ได้แก่
แอละแบมา (Alabama) อะแลสกา (Alaska) แอริโซนา (Arizona) อาร์คันซอ (Arkansas) แคลิฟอร์เนีย (California) โคโลราโด (Colorado) คอนเนตทิกัต (Connecticut) เดลาแวร์ (Delaware) ฟลอริดา (Florida) จอร์เจีย (Georgia) ฮาวาย (Hawaii) ไอดาโฮ (Idaho) อิลลินอยส์ (Illinois) อินดีแอนา (Indiana) ไอโอวา (Iowa) แคนซัส (Kansas) เคนทักกี (Kentucky) ลุยเซียนา (Louisiana) เมน (Maine) แมรี่แลนด์ (Maryland) แมสซาชูเสตส์ (Massachusetts) มิชิแกน (Michigan) มินนิโซตา (Minnesota) มิสซิสซิปปี (Mississippi) มิสซูรี (Missouri) มอนแทนา (Montana) เนแบรสกา (Nebraska) เนวาดา (Nevada) นิวแฮมป์เชียร์ (New Hampshire) นิวเจอร์ซีย์ (New Jersey) นิวเม็กซิโก (New Mexico) นิวยอร์ก (New York) นอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) นอร์ทดาโคตา (North Dakota) โอไฮโอ (Ohio) โอคลาโฮมา (Oklahoma) ออริกอน (Oregon) เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) โรดไอแลนด์ (Rhode Island) เซาท์แคโรไลนา (South Carolina) เซาท์ดาโคตา (South Dakota) เทนเนสซี (Tennessee) เทกซัส (Texas) ยูทาห์ (Utah) เวอร์มอนต์ (Vermont) เวอร์จิเนีย (Virginia) วอชิงตัน (Washington) เวสต์เวอร์จิเนีย (West Virginia) วิสคอนซิน (Wisconsin) ไวโอมิง (Wyoming)
1 เขตการปกครองพิเศษ
กรุงวอชิงตัน (Washington DC)
ภาษา
หมายเหตุ: สหรัฐฯ ไม่มีภาษาประจำชาติอย่างเป็นทางการ ภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาที่ใช้ในทางการใน 28 รัฐ จากทั้งหมด 50 รัฐ ภาษาฮาวายเป็นภาษาทางการในรัฐฮาวาย
รัฐบาล
สหรัฐฯ มีระบอบการปกครองและระเบียบปฏิบัติแบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ในระบบรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ พลเมืองจะอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล 3 ระดับ คือ รัฐบาลกลาง มลรัฐ และองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น การแบ่งอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลส่วนท้องถิ่นนั้นจะถูกแบ่งเป็นระบบเทศมณฑล (county) และเทศบาล (municipal) โดยส่วนใหญ่แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติจะมาจากการเลือกตั้งของพลเมืองในเขตปกครองนั้นๆ
รัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Government) ประกอบไปด้วย 3 ฝ่าย
ฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้นำประเทศ และผู้นำรัฐบาล นอกจากนี้ยังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายก่อนที่จะมีการออกกฎหมาย (หัวข้อที่ผ่านรัฐสภา) และแต่งตั้งสมาชิกคณะรัฐมนตรี (โดยการอนุมัติจากวุฒิสภา) และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและออกนโยบายรัฐต่างๆ อีกด้วย
ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะถูกเลือกจากรายชื่อสมาชิกพรรคการเมืองที่เข้ารับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งได้รับเลือกโดยตรงจากแต่ละรัฐ ประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งสมัยละ 4 ปี (สามารถอยู่ได้ 2 สมัยติดต่อกัน)
กลุ่มชาติพันธุ์
ข้อมูลจาก สำนักงานสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐอเมริกาปี 2562)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน
Photo Credit: The White House
รองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส
Photo Credit: The White House
ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ คือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส (ดำรงตำแหน่งปี 2564 – ปัจจุบัน) ซึ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อมาดำรงตำแหน่งมีขึ้นวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 และ การประกาศสาบานตนและเข้ารับตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564
ฝ่ายนิติบัญญัติ สภานิติบัญญัติมี 2 สภา ประกอบด้วย วุฒิสภา หรือ Senate (100 ที่นั่ง สมาชิกวุฒิสภา 2 คนได้รับเลือกมาจากประชาชนของแต่ละรัฐ ดำรงตำแหน่งสมัยละ 6 ปี โดยที่ 1 ใน 3 จะถูกเลือกทุก 2 ปี) และสภาผู้แทนราษฎรหรือ House of Representative (435 ที่นั่ง สมาชิกได้รับเลือกโดยคะแนนเสียงจากประชาชนโดยตรง ดำรงตำแหน่งสมัยละ 2 ปี)
ฝ่ายตุลาการ ศาลฎีกาถือเป็นศาลสูงสุด ระบบการศาลของสหรัฐฯ ประกอบด้วย ระบบศาลของรัฐบาลกลางและระบบศาลของแต่ละมลรัฐ แม้ว่าแต่ละระบบจะรับผิดชอบการพิจารณาคดีของตัวเอง แต่ไม่มีศาลไหนที่มีอิสระอย่างเต็มที่ ระบบศาลทั้ง 2 ระดับนี้มักจะมีการตรวจสอบซึ่งกันและกันได้เสมอ
การเมือง
สหรัฐฯ ได้ดำเนินการภายใต้ 2 ระบบพรรคมาช้านาน ซึ่งก็คือ พรรคริพับลิกัน (Republican) ถือเป็นพรรคแนวอนุรักษ์นิยม และพรรคเดโมแครท (Democrat) ถือเป็นพรรคแนวเสรีนิยม
ข้อมูลทางเศรษฐกิจ
สหรัฐอเมริกามีระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุด และมีอำนาจทางเศรษฐกิจในด้านเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก ซึ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐฯ โดยเฉลี่ยต่อบุคคลคิดเป็นจำนวน 63,543.6 ดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูลจาก World Bank ปี 2563) ในระบบเศรษฐกิจเสรีทางการตลาดนี้ ทั้งปัจเจกบุคคลและบริษัทมีอำนาจในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจด้วยตนเอง โดยรัฐบาลกลางจะจัดซื้อสินค้าและบริการจากภาคเอกชน บริษัทในสหรัฐฯ จึงสามาถใช้สิทธิ์ทางด้านธุรกิจอย่างเต็มที่มากกว่ากลุ่มบริษัทที่ตั้งในประเทศคู่ค้าดังเช่นยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นในด้านการตัดสินใจในทางธุรกิจ การวางรกรากทางการลงทุน การปลดลูกจ้างพนักงาน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบธุรกิจในสหรัฐฯ มีข้อเสียเปรียบคือต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านกำแพงการค้าซึ่งกีดขวางการเข้าสู่ตลาดของคู่ต่อสู้
นับตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐฯ เป็นผู้นำและมีข้อได้เปรียบทางธุรกิจในเวทีเศรษฐกิจโลกเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ เวชภัณฑ์ อวกาศ และยุทโธปกรณ์ แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังจากที่สหรัฐฯ ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (Great Recession) ระหว่างปี 2550-2552 อันเนื่องมาจากภาวะฟองสบู่แตกของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีการยุบตัวลงของสถาบันการเงินต่างๆ และบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ที่ถึงแม้ว่าจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตามยังคงส่งผลกระทบระยะยาวต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของสหรัฐฯ มาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงานที่เรื้อรัง ปัญหาหนี้สาธารณะ ปัญหารายได้ประชาชาติที่ลดลงในกลุ่มชนชั้นล่างและกลาง และปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลของกลุ่มวัยทำงานจากการกู้ยืมเงินทางการศึกษา เป็นต้น
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส
ได้ประกาศแนวทางการฟื้นฟูและส่งเสริมด้านเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้ 3 แผนงานที่สำคัญ ได้แก่
(ข้อมูลจาก The White House)
เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงระหว่างปี 2563-2564 ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มีชาวสหรัฐฯ จำนวน ๔ ล้านคนต้องตกอยู่ในสภาวะการว่างงานเป็นระยะเวลานานหลายเดือน ชาวสหรัฐฯ จำนวน 15 ล้านคนไม่สามารถจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยได้ และมีประชากรทั้งเด็กและผู้ใหญ่อีกกว่า 30 ล้านคนต้องประสบกับสภาวะขาดแคลนอาหาร โดยแผนงาน American Rescue Plan จะมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือประชากรชาวสหรัฐฯ ในด้านต่าง ๆ อาทิ
- การให้เงินช่วยเหลือทางตรงแก่ครัวเรือนชาวสหรัฐฯ
- การขยายระยะเวลาการให้สวัสดิการจากการว่างงาน
- การให้ความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย
- การให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร
- การให้คืนเครดิตภาษีสำหรับผู้ที่มีบุตร
- การให้ความช่วยเหลือด้านการเลี้ยงดูบุตร
“American Jobs Plan” มีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ การสร้างงาน และการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลก โดยแบ่งการปฏิรูปออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
- โครงสร้างพื้นฐานสำหรับที่พักอาศัย
- โครงสร้างการบริการและการจ้างงานด้านการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
- การส่งเสริมการลงทุนเพื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี การผลิต ธุรกิจขนาดย่อม และแรงงาน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีไบเดน ยังได้เสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีควบคู่ไปกับแผนเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินตามแผนงานด้วย
“American Families Plan” มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนครอบครัวชาวอเมริกัน โดยเฉพาะครัวเรือนระดับชนชั้นกลาง ในด้านการศึกษา สาธารณสุข และการปฏิรูประบบภาษี โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ได้แก่
- การสนับสนุนด้านการศึกษา อาทิ การเข้ารับการศึกษาแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โครงการทุนการศึกษา
- การสนับสนุนครอบครัว เด็ก และเยาวชน อาทิ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก โครงการด้านอาหาร
- การให้เครดิตภาษีและเงินช่วยเหลือ
- การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดหางบประมาณ อาทิ การเพิ่มอัตราการเรียกเก็บภาษีจากผู้มีรายได้สูง